วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Processes)
          จุดมุ่งหมายของการสอนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นในตัวบุคคล โดยให้ความสำคัญที่รายบุคคล จะเห็นได้จากการวัดผล ประเมินผล จะดำเนินการในรายบุคคล ให้แต่ละคนได้แสดงความสามารถหรือสมรรถนะเพื่อการประเมิน และมีการรายงานผลความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงเป็นรายบุคคล เช่น รายชื่อบุคคลที่สอบได้ สอบตก หรือรายชื่อผู้ได้คะแนน หรือ เกรดในแต่ละคน เป็นต้น
           ในขณะที่สังคมประกอบกันขึ้นด้วยบุคคลหลาย ๆ คนมารวมกัน การนำค่าเฉลี่ยของคนหลาย ๆ คนมาแสดงแล้วสรุปว่าเป็นค่าแทนความสามารถหรือการเรียนรู้ของกลุ่มหนึ่ง หรือของสังคมหนึ่ง เป็นที่นิยมและใช้สำหรับการวิจัยทางการศึกษามาโดยตลอด และการยอมรับผลของการประเมินจากการคำนวณค่าเฉลี่ยแล้วสรุปว่าเป็นการเรียนรู้ของสังคมนั้น ยังเป็นมิติการมองการเรียนรู้ของสังคมในมุมแคบ และอาจไม่ตรงกับเจตนาหรือความหมายของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม
            ดังนั้นถ้าคะแนนค่าเฉลี่ยของผลการสอบระดับชาติ เช่น O-NET, A-NET, หรือ V-NET ต่ำ หรือสูง ไม่สามารถอธิบายว่าการเรียนรู้ทางสังคมของประเทศไทยหรือสังคมไทยนั้นดีหรือไม่ดี ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษา การให้โอกาสทางการศึกษา การแข่งขัน การเรียนเสริม การกวดวิชา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางสังคมในบริบทที่แตกต่างไป
            ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม หรือ Social Learning Theory เป็นทฤษฎีที่มีแนวคิดมาจากการเรียนรู้จากผู้อื่น โดยได้รับประสบการณ์จากการฟัง ดู อ่านงานผู้อื่นมากกว่าทำด้วยตนเอง (Vicariousness) ซึ่งอาจเป็นการรับเอา (Adopting) พฤติกรรมของผู้อื่นเป็นแบบแผนในการกำหนดพฤติกรรมตนเอง อาจเกิดจากการสังเกต พบเห็นอยู่เป็นประจำ และอาจมีแรงจูงใจ ความประทับใจที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้รับเอาแบบแผนพฤติกรรมมาใช้เป็นแบบอย่างหรือเป็นต้นแบบการสร้างแบบแผนของตนเองขึ้น
            การเรียนรู้ทางสังคมจึงเป็นกระบวนการเผยแพร่ความรู้ ความคิด พฤติกรรม หรือแม้แต่วัตถุ สิ่งของ เทคนิควิธีการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในสังคมที่มีระบบสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม การถ่ายทอดวัฒนธรรม ความรู้ ความคิด และมีการใช้สื่อรวมทั้งกระบวนการสื่อสารในสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการสร้างให้เกิดเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ การสร้างเครือข่ายที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลจึงเกิดขึ้นได้ง่าย มีการเรียนรู้ทางสังคมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีกระบวนการของการเรียนรู้แยกย่อย ๆ ได้เป็น 4 กระบวนการดังนี้

1. กระบวนการสร้างความสนใจ ในขั้นนี้การสร้างความโดดเด่น (Salience) ให้เกิดความแพร่หลาย (Prevalence) กระทบกับภาวะของการรับรู้และกระบวนการทางปัญญาที่สามารถเข้าใจ (Cognitive Capabilities) กระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น จนทำให้เกิดความพึงพอใจ อิทธิพลของสื่อสมัยใหม่สามารถสร้างความสนใจและเข้าถึงผู้คนส่วนมากได้อย่างง่ายและรวดเร็ว
2. กระบวนการสร้างความคงทน เป็นส่วนสำคัญที่ต้องออกแบบสถานการณ์ของการเรียนให้สามารถคงทนได้ดี ทั้งนี้อาจใช้กระบวนการทำให้เกิดภาวะ “สะดุดในกระบวนการทางปัญญา” หรือ Cognitive Disfluency รวมทั้งการย้ำเตือน การใช้สัญลักษณ์ และวาทกรรมที่โดนใจ รวมทั้งอาจสร้างหรือทำสิ่งที่ แปลกใหม่ ล่อแหลม ท้าทายต่อความถูกต้องเชิงวัฒนธรรมและกฎหมายเพื่อสร้างความคงทนในการจดจำสิ่งที่ได้รับรู้มาจากกระบวนการสร้างความสนใจ
3. กระบวนการแสดงออกเป็นผลิตภาพ เป็นกระบวนการเชื่อมโยงและถ่ายโอนของกระบวนการทางปัญญามาสู่พฤติกรรม สังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก ทั้งการพูดและการกระทำ ซึ่งไม่เพียงแต่การเลียนแบบของการได้รับรู้ หรือเรียนรู้มาเท่านั้น ยังเป็นกระบวนการที่สร้างแบบแผนพฤติกรรมใหม่ที่มีแบบแผนเฉพาะแห่งตนขึ้นมาด้วย
4. กระบวนการสร้างแรงจูงใจเป็นแบบอย่าง ในกระบวนการนี้เป็นการยืนยันและรับเอาแบบแผนแห่งตนเข้ามาเป็นบุคลิกภาพของตน ในขั้นนี้อาจมีการให้รางวัลตนเอง หรือสนับสนุนการกระทำของตนเอง รวมทั้งเผยแพร่แบบอย่างของตนสู่ผู้อื่นให้เกิดการเรียนรู้ และเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมขึ้นต่อ ๆ ไป

         เมื่อมีความเข้าใจตรงกันในกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมแล้ว สามารถนำหลักการและกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม ด้วยการออกกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อใช้สำหรับการควบคุม ส่งเสริม ป้องกัน กระบวนการเรียนรู้ทางสังคม และกำหนดมาตรการหรือแนวทางให้สังคมได้เรียนรู้ในทิศทางที่เหมาะสมสร้างความสงบสุขในสังคมได้
        นอกจากนั้นความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมยังสามารถอธิบาย วิเคราะห์สาเหตุต่าง ๆ ของปรากฏการณ์ในสังคมตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม หรือ Social Learning Theory เพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสม และไม่เป็นการสร้าง หรือซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลดลงหรือหมดไปได้

ที่มา https://www.thairath.co.th/content/270870

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น