วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

การประยุกต์ใช้สื่อให้เหมาะสมกับบริบทโรงเรียน

   
   สื่อการเรียนการสอน คือ เครื่องมือช่วยสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ การเลือกใช้สื่อที่มีอยู่หลากหลายได้อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาความรู้ที่ผู้สอนต้องการสื่อได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น แต่กลับกันการที่ครูเลือกใช้สื่อผิดประเภทหรือใช้อย่างไม่เหมาะสมก็อาจจะส่งผลเสียกับผู้เรียนได้เช่นเดียวกัน มาดูกันว่าสื่อแบบไหนเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
สื่อหรือนวัตกรรมการเรียนรู้ ปัจจุบันมีอยู่หลายประเภท ซึ่งสามารถจำแนกออกมาเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

            1.  สื่อสิ่งพิมพ์ คือสิ่งที่เกิดจากการตีพิมพ์ออกมาเป็นใบงานหรือหนังสือ เช่น หนังสือเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม  แบบฝึกกิจกรรม ใบงาน ใบความรู้ วารสาร นิตยสาร หรือ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

            2.  สื่อบุคคล ตัวบุคคลที่มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และวิธีปฏิบัติตนไปสู่ผู้เรียน

            3.  สื่อวัสดุ  เป็นสื่อที่มีสาระความรู้อยู่ในตัวเอง สามารถจำแนกออกเป็น 2  ลักษณะ คือ

                            (1) วัสดุประเภทที่สามารถถ่ายทอดความรู้อยู่ได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วย เช่น รูปภาพ หุ่นจำลอง เป็นต้น

                            (2) วัสดุประเภทที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้โดยตนเองจำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นช่วย  เช่น ฟิล์มภาพยนตร์ เทปบันทึกเสียง ซีดีรอม แผ่นดิสก์ เป็นต้น

            4. สื่ออุปกรณ์ คือสื่อที่ใช้เป็นตัวกลาง ทำให้ข้อมูลหรือความรู้ที่บันทึกไว้ในวัสดุ สามารถถ่ายทอดออกมาได้ เช่น  เครื่องฉายแผ่นโปร่งใส เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น

            5.  สื่อบริบท เป็นสื่อที่เกิดขึ้นตามสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ภายในโรงเรียน ได้แก่ ห้องเรียนต่างๆ พืชพรรณ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่สามารถพบเห็นได้ภายในโรงเรียน เป็นต้น

            6.  สื่อกิจกรรม เป็นกิจกรรมหรือกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน เช่น การแสดงละคร  บทบาทสมมติ การสาธิต สถานการณ์จำลอง การจัดนิทรรศการ
 ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ สื่อวัสดุ อุปกรณ์ช่วยสอน สื่อวีดีทัศน์ คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต ตามสัดส่วนการเติบโตของแต่ละโรงเรียน แต่ปัญหาในเรื่องของการใช้สื่อก็ยังคงมีให้พบเห็นอยู่โดยทั่วไป ซึ่งปัญหาและอุปสรรคในการใช้สื่อนั้น สามารถจำแนกออกมาเป็นด้าน ๆ ได้ดังนี้

            1. ปัญหาด้านบุคลากร คือ บุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตสื่อ ขาดประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในการใช้สื่อนวัตกรรมทางการศึกษา รวมถึงการไม่ส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

            2. ปัญหาด้านวัสดุ อุปกรณ์และงบประมาณ คือ ขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ ในการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ในการผลิตสื่อหรือนำสื่อมาประยุกต์ใช้กับการสอนต่าง ๆ

            3. ปัญหาด้านสภาพแวดล้อม คือ การที่สิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรคหรือไม่เหมาะต่อการใช้สื่อบางประเภท หรือสื่อนวัตกรรมบางชนิด ไม่เหมาะกับการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนในห้องเรียนที่มีจำนวนมาก 

            4. ปัญหาด้านการเรียนการสอน คือ ความแตกต่างของผู้เรียนส่งผล_ทำให้การใช้สื่อมีผลลัพธ์ที่หลากหลาย มีทั้งสนใจและไม่สนใจ และสื่อหรือนวัตกรรมบางชนิดใช้เวลาในการใช้มากเกินไป ไม่เหมาะสมกับการจัดเวลาเรียน

            5. ปัญหาด้านการวัดและประเมิน คือ การขาดการวัดและประเมินผลการใช้สื่อ ทำให้ไม่สามารถหาได้ว่าสื่อหรือนวัตกรรมใด มีผลต่อผู้เรียนอย่างไร

  จากปัญหาที่พบจากการใช้สื่อโดยทั่วไปในแต่ละโรงเรียน จะเห็นได้ว่าปัญหาในการใช้สื่อนั้น เกิดทั้งจากตัวผู้สอนและตัวผู้เรียน รวมไปถึงสภาพโดยทั่วไปของแต่ละโรงเรียนด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมมองว่า เราควรที่จะประยุกตฺใช้สื่อให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียนให้มากขึ้น เพื่อให้การใช้สื่อและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักในการประยุกต์ใช้สื่อตามบริบทของโรงเรียนในทัศนะของผมนั้น ผมมองว่า ควรจะต้องพิจารณาถึงเรื่อง ดังต่อไปนี้



            1. สื่อหรือนวัตกรรมที่จะนำมาใช้นั้น จะต้องมีจุดเด่นที่เห็นได้ชัดในการเป็นสื่อที่ช่วยเหลือในการจัดการเรียนการสอน มากกว่ารูปแบบการสอนแบบเดิมๆ เช่น การใช้สื่อวีดีทัศน์นำเสนอเรื่องของการเติบโตของสัตว์ ซึ่งเป็นสื่อที่ดีกว่าการสอนตามหนังสือแบบเดิม เป็นต้น

            2.  สื่อหรือนวัตกรรมนั้น ต้องมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและสภาพความเป็นอยู่ของผู้เรียน ยกตัวอย่างเช่น การยกตัวอย่างการแล่นของรถไฟในการคำนวณความเร็ว แต่ใช้กับผู้เรียนในพื้นที่ที่ไม่มีรถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งลักษณะนี้ นับว่าเป็นการเลือกใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม

            3. ควรเลือกใช้สื่อหรือนวัตกรรมที่มีงานวิจัยหรือกรณีศึกษารองรับ ในเรื่องของการนำมาใช้ได้ในสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ เมื่อใช้ในโรงเรียนหนึ่งแล้ว ไปใช้กับอีกโรงเรียนหนึ่ง ก็ส่งผลให้ผู้เรียนทั้งโรงเรียนแรกและโรงเรียนที่สอง มีความเข้าใจในเนื้อหาใกล้เคียงกัน

            4. สื่อและนวัตกรรมนั้น ควรมีความเกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้เรียน เช่น การหยิบยกข่าวหนังสือที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้เรียนเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เป็นต้น

            5. ควรคำนึงถึงงบประมาณของแต่ละโรงเรียนในการเลือกซื้อหรือผลิตสื่อและนวัตกรรม พยายามเลือกสรรสื่อโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก ไม่ควรให้สิ้นเปลืองมากจนเกินไป ควรเลือกสื่อที่สามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย มากกว่าสื่อที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว

            6. ในการใช้สื่อและนวัตกรรมต่างๆ ผู้ใช้จำเป็นต้องศึกษาคู่มือการใช้หรือออกแบบวิธีการใช้ให้เหมาะสมก่อนนำมาใช้ เพื่อให้สามารถใช้สื่อได้มีประสิทธิภาพและไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวสื่อ

            7. ปัจจุบันควรเน้นการใช้สื่อเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีมาทดแทนสื่อสิ้นเปลืองต่างๆ เช่น ใช้การฉายภาพจากอินเตอร์เน็ต แทนการปริ้นรูปภาพลงบนกระดาษ หรือการให้ผู้เรียนส่งงานทางอีเมลล์แทนการส่งรูปเล่มรายงาน เป็นต้น

 อ้างอิง

https://www.gotoknow.org/posts/503773
http://m.eduzones.com/content.php?id=178417
https://mataveeblog.wordpress.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99/
http://innovationforeducation.weebly.com/358536343619361136193632361836403585360536603651359436573651360935853634361936483619363736183609358536343619362636293609.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น