การจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน (TASK-BASED LEARNING)
ความหมายของภาระงาน
นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ดังนี้
วิลลิซ และ วิลลิซ (Willis and Willis. 1996 : 53 - 54) ได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ว่า
ภาระงานคือกิจกรรมที่มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อบรรลุผลที่แท้จริง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าผู้เรียนจะใช้ทรัพยากรของภาษาเป้าหมายอะไรก็ตามที่พวกเขามีอยู่เพื่อที่จะใช้แก้ปัญหา
ไขปริศนา เล่นเกม หรือแบ่งปันและเปรียบเทียบประสบการณ์ ภาระงานมีจุดเริ่มต้นที่หลากหลาย
โดยอาจจะมาจากข้อมูลที่ผู้เรียนมี อย่างเช่น ประสบการณ์ส่วนตัว ความรู้ทั่วไป ภาระงานอาจจะมาจากงานเขียน
บันทึกข้อมูลเสียง หรือบันทึกข้อมูลภาพ และอาจจะเป็นกิจกรรมอย่างเช่น เกมต่างๆ การสาธิต
หรือการสัมภาษณ์
แบรนเดน (Branden. 2006 : 4) ได้กล่าวถึงความหมายของภาระงานไว้ว่า ภาระงาน
คือกิจกรรมที่มีคนมีส่วนร่วมเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายซึ่งต้องมีการใช้ภาษา การใช้ภาษาในที่นี้คือการบรรลุเป้าหมายโดยการเข้าใจภาษาที่ป้อนและการสร้างผลผลิตทางภาษา
ตัวอย่างเช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสถานการณ์จริงผ่านการใช้ภาษา ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากขึ้น
ความสำคัญของภาระงาน
ไบเกต (Bygate. 2001 : 23) กล่าวถึงความสำคัญของภาระงานไว้ว่า การใช้ภาระงานเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะภาษาเป้าหมายของผู้เรียน
ในประเภทของภาระงานที่แตกต่างกันออกไปช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาเป้าหมายสื่อสารได้อย่างมีความหมาย
ประเภทของภาระงาน
พราบู (Prabhu. 1987 : 46 – 47) แบ่งประเภทของกิจกรรมที่เป็นภาระงานออกเป็น
3 ประเภท ซึ่งประเภทของภาระงานนี้อยู่ในช่วงเริ่มแรกของการนำภาระงานมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
ได้แก่ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลใหม่
ดังนี้
1. กิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล
(information - gap task) เป็นกิจกรรมที่ก่อให้ผู้เรียนเกิดการส่งผ่านข้อมูลจากคนหนึ่งไปถึงอีกคน
ในการทำกิจกรรมผู้เรียนจะต้องได้ใช้ภาษาสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลของตนกับสมาชิกในกลุ่มหรือภายในห้องเรียน
เช่น การกำหนดตารางที่มีรายละเอียดยังไม่สมบูรณ์ และ มีข้อมูลที่สัมพันธ์กันกับตารางนั้นๆแจกให้ผู้เรียนเป็นข้อความที่แตกต่างกัน
ซึ่งในการทำกิจกรรมนี้ผู้เรียนจะต้องได้การใช้ภาษาสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อความที่ตนมีกับผู้อื่น
โดยที่ผู้เรียนจะต้องหาข้อความของสมาชิกคนอื่นที่มีความสัมพันธ์กับข้อความที่ตนได้รับเพื่อนำไปเติมลงในตารางให้สมบูรณ์
2. กิจกรรมการนำเสนอข้อมูลใหม่
(reasoning - gap task) เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลใหม่จากข้อมูลที่ได้รับโดยผ่านการคิดจากการวิเคราะห์
การอนุมาน การวินิจฉัย การให้เหตุผล หรือตามความคิดเห็นส่วนตัว เช่น ผู้สอนให้ผู้เรียนจัดตารางเรียนใหม่
โดยทำการระบุเวลาและรายวิชา และให้เหตุผลในการจัดตารางได้อย่างเหมาะสม
3. กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
(opinion-gap task) เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนจะต้องได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็นหรือทัศนคติต่อเรื่องราวหรือสถานการณ์ที่ผู้สอนกำหนดให้
เช่น การร่วมกันอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น
นูแนน (Nunan. 2004 : 1) ได้กำหนดรูปแบบของภาระงานไว้ 2 ประเภท
คือ ภาระงานเพื่อการเรียนการสอน (pedagogical
task) ซึ่งเป็นภาระงานในชั้นเรียน
และภาระงานจริง (real- world task) ซึ่งเป็นภาระงานที่เน้นการฝึกใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน
มีรายละเอียดดังนี้
ภาระงานเพื่อการเรียนการสอน (pedagogical
task)
นูแนน (Nunan. 2004 : 20 - 21) กล่าวถึงความหมายของภาระงานเพื่อการเรียนการสอนไว้ว่า
ภาระงานเพื่อการเรียนการสอนช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนภาษาจากการทำกิจกรรมผ่านการทำภาระงานในห้องเรียน
โดยแบ่งประเภทของภาระงานเพื่อการเรียนการสอนไว้ 2 ประเภท ดังนี้
1.1 ภาระงานเพื่อการฝึกฝน
(rehearsal rational) เป็นภาระงานที่ผู้เรียนจะได้ฝึกใช้ภาษาอย่างมีเป้าหมาย
และฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น การเขียนประวัติของตัวเองเพื่อใช้ในการสมัครงาน
(resume) ผู้เรียนจะได้ฝึกใช้ภาษาอย่างถูกต้อง และสื่อสารได้อย่างมีความหมาย
โดยการทำภาระงานนี้จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกและพัฒนาทักษะทางภาษาของตนเองได้ดียิ่งขึ้นผ่านการทำกิจกรรมแบบจับคู่และได้รับคำแนะนำจากผู้สอน
1.2 ภาระงานเพื่อการกระตุ้น
(activation rationale) เช่น การจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนทำภาระงานกลุ่มๆ ละ
3 คน โดยกำหนดสถานการณ์ให้ ผู้เรียนอยู่บนเรือที่กำลังจะจม และผู้เรียนต้องว่ายน้ำไปที่เกาะถึงจะรอดจากการจมน้ำ
โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เรียนมีภาชนะกันน้ำ 1 อย่างที่สามารถบรรจุของได้ 20 กิโล ให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกสิ่งของที่จะนำไปด้วย
โดยมีรายการต่างๆตามที่ผู้สอนได้กำหนดไว้ การทำภาระงานนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการกระตุ้นจากสถานการณ์ที่ได้รับเพื่อให้เกิดการใช้ภาษาและโครงสร้าง
ทั้งการพูดแสดงความคิดเห็น การพูดเพื่อตัดสินใจ การให้คำแนะนำ การพูดถึงปริมาณ เป็นต้น
ริชาร์ด (Richards. 2001 : 162) ได้นำเสนอรูปแบบของการจัดภาระงานเพื่อการเรียนการสอน
(pedagogical task) ที่แตกต่างกันไว้อีก 5 ประเภท ดังนี้
1. ภาระงานประเภทจิ๊กซอว์
(jigsaw task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้เรียนคนอื่นๆเพื่อเรียบเรียงเรื่องราวให้สัมพันธ์กัน
เช่น ผู้เรียนได้รับเนื้อหาเกี่ยวกับนิทานที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนจะต้องทำการเล่าเรื่องร่วมกันกับกลุ่มอื่นๆโดยลำดับเหตุการณ์ตามท้องเรื่องได้อย่างถูกต้อง
2. ภาระงานแลกเปลี่ยนข้อมูล
(information - gap task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม
โดยที่จะได้รับชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ผู้เรียนจะต้องทำการสื่อสารเพื่อขอและให้ข้อมูลเพื่อให้ภาระงานนั้นแล้วเสร็จ
3. ภาระงานแก้ปัญหา (problem solving task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้คิดหาแนวทางแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่กำหนดตามชุดของข้อมูลที่กำหนดให้
4. ภาระงานเพื่อการตัดสินใจ
(decision - making task) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจต่อเรื่องหรือปัญหาที่ผู้สอนกำหนด
โดยผู้เรียนต้องอธิบายเหตุผลที่เลือกตัดสินใจสิ่งนั้น
5. ภาระงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
(opinion exchange tasks) เป็นกิจกรรมภาระงานที่ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกัน
โดยไม่จำเป็นต้องมีความเห็นที่ตรงกันกับบุคคลอื่น
ภาระงานจริง (real-world
task)
นูแนน (Nunan. 2004 : 19 - 20) กล่าวถึงความสำคัญของภาระงานจริงไว้ว่า
ภาระงานจริงคือสิ่งที่เราทำเป็นประจำในทุกๆวัน เป็นการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน ทั้งการเขียนบทกลอนจนรวมไปถึงการจองตั๋วเครื่องบิน
ภาระงานจริงมุ่งเน้นไปยังการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านการสื่อสารระหว่างบุคคล โดยในทั่วไปนั้นมีระดับการใช้ภาษาอยู่
3 ประเภท ดังนี้
2.1 การใช้ภาษาเพื่อการค้าและบริการ
(goods and services)
2.2 การใช้ภาษาเพื่อปฎิสัมพันธ์ในสังคม
(social macrofunction)
2.3 การใช้ภาษาเพื่อความเพลิดเพลิน
(aesthetic macrofunction)
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน
วิลลิซ (Willis. 1996 : 56) กล่าวว่า ขั้นก่อนการปฏิบัติภาระงานและขั้นปฏิบัติภาระงานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการสื่อสารกันในกลุ่มเล็กๆ
ไปสู่การสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ขั้นตอนการปฏิบัติภาระงานที่สมบูรณ์นั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างปัจจัยสำคัญต่างๆ
ในการเรียนภาษาให้เกิดขึ้นในห้องเรียน มีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นก่อนการปฏิบัติภาระงาน
(pre-task)
1.1 ครูผู้สอนแนะนำบทเรียน
รูปแบบ จุดประสงค์ของภาระงานต่างๆ
1.2 ผู้สอนกำหนดภาระงานพูดจากเนื้อหา
1.3 ครูผู้สอนเตรียมความพร้อมและความเข้าใจของผู้เรียนในขั้นตอนของการปฏิบัติภาระงาน
2. ขั้นดำเนินงานตามตามวงจรของการปฏิบัติภาระงาน
(task cycle) เป็นขั้นตอนการปฏิบัติภาระงานตามที่ได้รับมอบหมาย
โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 ภาระงาน (task) ผู้เรียนมีการอภิปราย ปฏิบัติภาระงานตามที่ได้รับมอบหมายในรูปแบบของกิจกรรมเดี่ยว
จับคู่ และกลุ่ม
2.2 วางแผน (planning) ผู้เรียนเตรียมตัวนำเสนอภาระงานตามที่ได้รับมอบหมาย
โดยมีการใช้ภาษาด้วยตนเองซึ่งครูผู้สอนจะให้ความช่วยเหลือหากมีความติดขัดทางการใช้ภาษา
2.3 ขั้นรายงาน (report) ผู้เรียนสรุปผลและรายงานผลจากภาระงานที่ตนปฏิบัติ
ครูผู้สอนจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและประเมินผลงานนั้นๆ
3. ขั้นฝึกฝนและตรวจสอบการใช้ภาษา
(language focus) ผู้เรียนจะสามารถประเมินผลการปฏิบัติภาระงานของตนและเปรียบเทียบผลจากการปฏิบัติภาระงานของผู้อื่น
มีขั้นตอนสำคัญ 2 ขั้นตอน
3.1 ขั้นวิเคราะห์ (analysis) ผู้เรียนตรวจสอบการใช้ภาษาในการปฏิบัติภาระงานของตนเอง
และสามารถสร้าง คำ วลี ขึ้นใหม่เองได้จากการวิเคราะห์คำที่ใช้สื่อสารความหมายจากการปฏิบัติภาระงานที่ผ่านมา
3.2 ขั้นปฏิบัติ (practice) ผู้เรียนฝึกฝนการใช้ภาษาโดยเรียนรู้คำ วลี และรูปแบบโครงสร้างตามเนื้อหาที่เรียน
วิลลิซ และ วิลลิซ ( Willis and Willis. 2007 : 76 - 77) ได้ยกตัวอย่างภาระงานการจัดประเภท
โดยมีชื่อภาระงานว่า ‘International words’ ดังนี้
ขั้นภาระงานเป้าหมาย (target task) คือ ให้ผู้เรียนจัดประเภทสิ่งที่รับประทานได้ สิ่งที่ดื่มได้
กีฬา การขนส่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า สื่อ คำทักทาย และคำต่างๆ ที่เกี่ยวกับโรงเรียนลงในช่องว่างที่แบ่งไว้แต่ละประเภท
ขั้นการทำกิจกรรม (during task)
1. ผู้สอนแบ่งช่องเพื่อจัดประเภทบนกระดาน
โดยแต่ละประเภทจะมีตัวอย่างให้ไว้หนึ่งตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติภาระงาน
2. ผู้เรียนพูดคำศัพท์ที่เหมาะสมกับแต่ละประเภท
อย่างเช่น ประเภทกีฬา ผู้เรียนจะพูดคำศัพท์ เทนนิส (tennis) และ กอล์ฟ (golf) เป็นต้น
อ้างอิง https://massupha.wordpress.com/2016/03/12/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น