วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

เกี่ยวกับบล็อก



บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของ

รายวิชาการจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน

ผู้จัดทำ นางสาว กุลสินี     เครือสุคนธ์

รหัสนักศึกษา 603150210525 ชั้นปีที่2


สาขาวิชาวิทยาศาสตร์  คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยนครพนม

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

การบริหารจัดการชั้นเรียน

การบริหารจัดการชั้นเรียน

                การบริหารจัดการชั้นเรียน เป็นวิธีการดำเนินการให้ชั้นเรียนได้อยู่ในสภาพความพร้อมที่จะดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง เนื่องด้วยชั้นเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้พื้นฐานในรายวิชาต่างๆ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ทั้งประกอบด้วยผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันในด้านต่างๆอย่างชัดเจน หรืออาจเรียกว่า “ความแตกต่างระหว่างบุคคล” (Individual Difference) ชั้นเรียนที่มีการบริหารจัดการดีเป็นความสามารถของผู้สอนที่ส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญของการเรียนการสอน และหมายความรวมถึง ผู้เรียนมีความสุขในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน ความสุขของผู้เรียนเป็นสิ่งที่สุดยอดปรารถนาของผู้สอน และผู้รับผิดชอบทางการศึกษาต้องพยายามจัดให้มีขึ้นโดยทั่วกัน การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นองค์รวมของการบูรณาการความรู้ ความสามารถของครูผู้สอน พร้อมทั้งก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้มาโรงเรียนทุกวันอย่างมีความสุข (สันติ บุญภิรมย์. 2557 : 113)

ความหมายของการบริหารจัดการชั้นเรียน

                อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง (2545 : 10) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การปฏิบัติและกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อจัดระเบียบ (Order) ในห้องเรียน หากต้องการจัดการห้องเรียนจำเป็นต้องประยุกต์หลักการหลายข้อ ได้แก่

                                1. การเตรียมจัดการสอน เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับปีการศึกษา จัดระเบียบห้องเรียน เลือกและสอนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติ

                                2. การวางแผนการจัดการ เป็นการวางแผนการเรียนการสอนโดยมีหลักการจัดการอยู่ในใจตลอดเวลา วางแผนเพิ่มแรงจู.ใจ วางแผนจัดการกับนักเรียนที่แตกต่างกัน และวางแผนร่วมมือกับผู้ปกครอง

                                3. การดำเนินการในชั้นเรียน เป็นการสร้างความร่วมมือ และความรับผิดชอบ กระตุ้นและเสริมแรงพฤติกรรมที่เหมาะสม และดำเนินการเรียนการสอนตามแผน

                สุรางค์ โค้วตระกูล (2556 : 470) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรือหมายถึงกิจกรรมทุกอย่างที่ครูทำเพื่อจะช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สำหรับบทเรียนหนึ่งๆนอกจากนี้การจัดการห้องเรียนยังรวมถึงการที่ครูสามารถที่จะใช้เวลาที่กำหนดไว้ในตารางสอนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และการจัดที่นั่งของนักเรียน และอุปกรณ์ที่ครูจะใช้ในการสอนให้อยู่ในสภาพที่จะช่วยครูได้ในเวลาสอน

                สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 114) ได้ให้ความหมายว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง กระบวนการดำเนินการในชั้นเรียน ประกอบด้วย 1) การเตรียมการ 2) การวางแผนจัดการ 3) การดำเนินการในชั้นเรียน สำหรับในแต่ละขั้นมีรายละเอียดประกอบ ดังนี้

                                1. การเตรียมการ หมายถึง การจัดเตรียมการเรียนไว้ให้พร้อมที่จะมีการเรียนการสอนในปีการศึกษานั้นๆ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านศักยภาพ

                                2. การวางแผนการเรียนการสอน หมายถึง การวางแผนการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการวางแผนการเลือกใช้กิจกรรมต่างๆ มาใช้ประกอบการเรียนการสอนที่คาดว่าน่าจะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของรายวิชานั้นๆ

                                3. การดำเนินการในชั้นเรียน หมายถึง การดำเนินการเรียนการสอนให้เป็นไปตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้มีวัตถุปะสงค์เพื่อผู้เรียนได้มีความรู้ ความสามรถตามสมรรถนะของรายวิชาพร้อมทั้งมีปฏิกิริยาร่วมระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง และก่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายในระดับที่ยอมรับได้เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศในชั้นเรียน

                ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การจัดการชั้นเรียน หมายถึง การสร้างและการรักษาสิ่งแวดล้อมของห้องเรียนเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งวิธีการสร้างระเบียบวินัยในห้องเรียน เพื่อรักษาสภาพบรรยากาศในห้องเรียน ช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น นักเรียนเกิดความร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้



ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน

                ความสำคัญของการบริหารจัดการชั้นเรียน (Importance of Classroom Management) ที่มีต่อผู้เรียน ดังต่อไปนี้

                1. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความอบอุ่นในขณะอยู่ในชั้นเรียน และมีความสุขในขณะที่มีการเรียนการสอน

                2. ช่วยให้ส่งเสริมสนับสนุนบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในเวลาเรียนปกติและนอกเวลาเรียน

                3. ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันตามธรรมชาติของรายวิชานั้นๆ

                4. ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ตระหนักในเรื่องของวินัยในชั้นเรียน

                5. ช่วยป้องกันสิ่งรบกวนที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีต่อการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมต่างๆของผู้เรียน

                ดังนั้น การบริหารจัดการชั้นเรียน จึงเป็นการช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนและการสอนของผู้สอนได้เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในขณะนั้นให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมายของการศึกษาในระดับสูงสุด และผู้เรียนได้รับการพัฒนาศักยภาพได้เต็มตามอัตภาพพร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการสอนของผู้สอนให้เต็มศักยภาพทั้งสองฝ่าย (สันติ บุญภิรมย์. 2557 : 115)



องค์ประกอบของการบริหารจัดการชั้นเรียน

                สันติ บุญภิรมย์ (2557 : 115-116) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้ องค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียน (Element of Classroom Management) เพื่อให้ชั้นเรียนได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ดังนั้น จึงมีการจัดองค์ประกอบของการจัดการชั้นเรียนดังต่อไปนี้

                1. องค์ประกอบด้านกายภาพ หมายถึง สิ่งอำนวยความสะดวกภายในชั้นเรียนจัดให้มีไว้อย่างเพียงพอ พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งประกอบด้วย โต๊ะ เก้าอี้ ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน กระดานดำ บอร์ดสำหรับจัดนิทรรศการ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การจัดเตรียมการในด้านวัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นไว้อย่างครบถ้วน และมีคุณภาพดีพร้อมใช้งานตลอดเวลา

                2. องค์ประกอบด้านสังคม หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนในรูปแบบต่างๆ ตามกิจกรรมประกอบการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ผู้สอนกับผู้เรียนได้ช่วยกันทำงาน ผู้เรียนทำงานกันเป็นกลุ่ม ผู้สอนสาธิตให้ผู้เรียนได้ศึกษาสังเกต

                3. องค์ประกอบด้านการศึกษา หมายถึง การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ความรู้ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน พร้อมทั้งให้ผู้เรียนมีกาสวางแผนการเรียนร่วมกับผู้สอน และให้ผู้เรียนได้ตระหนักในคุณค่าของความรู้ ความสามารถที่ได้รับจากผู้สอน หรือการศึกษาค้นคว้าตามที่ได้รับมอบหมายให้เต็มตามอัตภาพ ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจัดการศึกษาในส่วนของการจัดการชั้นเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการเรียนรู้ คือ ให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ให้เป็นไปตามอัตภาพและผู้เรียนสามารถพัฒนาได้โดยให้ความสำคัญไปที่การบริหารจัดการชั้นเรียน เนื่องจากชั้นเรียนเป็นสถานที่อยู่ของผู้เรียนตลอดระยะเวลาของการมาเรียนที่โรงเรียน สำหรับองค์ประกอบด้านกายภาพและด้านสังคม เป็นส่วนส่งเสริม สนับสนุนให้องค์ประกอบด้านการศึกษาของผู้เรียนได้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน

แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการชั้นเรียน

                การบริหารจัดการชั้นเรียนเป็นการจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้สะอาดเรียบร้อย น่าอยู่ น่าเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการเรียนการสอนของผู้สอน เพื่อส่งเสริมวินัยในตนองและวินัยในสังคมให้ผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทุกด้าน เพื่อใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งของผู้เรียนและผู้สอน นอกจากนั้น พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก ศิริบูรณ์ สายโกสุม 2548 : 223-240) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการบริหารจัดการชั้นเรียน เพื่อช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในการเรียนให้เป็นไปในทางบวกและเสริมสร้างในการบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ

                1. เพื่อให้มีเวลาในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น คือการขยายเวลาแต่ละเสี้ยววินาทีให้มีสำหรับการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการเข้าสายและออกก่อนเวลา ขจัดการขัดจังหวะการรบกวนขณะที่มีครูสอน ครูควรจัดการสอนให้มีลำดับต่อเนื่องกัน ให้เด็กทำกิจกรรมที่มีความหมาย ให้เด็กมีความตื่นตัวทำกิจกรรมที่เหมาะสมและคุ้มค่า

                2. วิธีการในการเรียนรู้ การจะให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปโดยราบรื่น ครูต้องแน่ใจว่าเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมเฉพาะอย่างไร ครูมีเกณฑ์และความคาดหวังอย่างไร ที่เป็นที่เข้าใจดี การให้สัญญาณเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วม มีความชัดเจนสม่ำเสมอ หรือไม่ครูควรวางกฎเกณฑ์ไว้ชัดตั้งแต่ต้นปีการศึกษา

                3. การบริหารเพื่อให้นักเรียนสามารถบริหารตนเองได้ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ กระตุ้นให้เด็กมีการจัดการกับตัวเอง ครูจะต้องใช้เวลาเป็นพิเศษเพื่อสอนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ เป็นการสอนให้เกิดจิตสำนึกและความรับผิดชอบ



หลักการบริหารจัดการชั้นเรียน

                พวงรัตน์ เกษรแพทย์ (อ้างอิงจาก สุพิน บุญชูวงศ์ 2544 : 128-129) ได้สรุปหลักการจัดการชั้นเรียนไว้ดังนี้

                1. ชั้นเรียนควรมีสีสันที่น่าดูสบายตา มีอากาศถ่ายเทได้ดี แสงสว่างเพียงพอ ไม่มีเสียงรบกวน อากาศไม่เป็นพิษ ไม่ร้อนจนเกินไป มีต้นไม้ ดอกไม้ประดับ และมีขนาดกว้างขวางอย่างเพียงพอ

                2. สะอาดถูกสุขลักษณะ เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่มีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมคล้ายคลึงกับชีวิตในบ้าน ในครอบครัวของนักเรียน

                3. สิ่งที่อยู่ในชั้นเรียน ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ มุมหนังสือ ป้ายนิเทศ สื่อการสอน ประเภทต่างๆสามารถเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ สามารถจัดหรือดัดแปลงชั้นเรียนให้มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการสอนและกิจกรรมประเภทต่างๆ ได้

                4. นักเรียนเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างมีความสุข มีอิสระ เสรีภาพในเรื่องการเรียนรู้และในขณะเดียวกันก็มีวินัยในการดูแลตัวเองและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ปฏิสัมพันธ์ของนักเรียนและครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี ทั้งส่งเสริมบรรยากาศและมีความเข้าใจในบทบาทของตนเอง

                5. จัดมุมหนังสือ มุมประสบการณ์ สื่อการสอนบางประเภทให้เพียงพอ และมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

                6. ชั้นเรียนที่ดีไม่จำกัดเฉพาะในห้องสี่เหลี่ยมที่กำหนดให้เท่านั้น แต่ยังมีชั้นเรียนแบบเปิด แบบธรรมชาติเป็นการศึกษานอกชั้นเรียนที่นักเรียนมีความต้องการและสนใจเช่นเดียวกัน

                7. การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม เนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องกระทำอยู่เสมอ ตามเหตุการณ์ข่าวคราวความเคลื่อนไหว สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน

                8. ควรมีการจัดการเตรียมพร้อมต่อการสอนแต่ละครั้ง เพื่อพัฒนาทักษะสำคัญๆบางประการ

                9. ครูต้องระมัดระวังและควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนให้ดี ไม่ก้าวร้าวแสดงอาการไม่พอใจให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน



การจัดการชั้นเรียนเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้

บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน

ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง บรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ ดังนี้

1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ

2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด

3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง

4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน

5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต

6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่า การพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึง แต่สิ่งที่ล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียน ผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน

ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี

เพื่อให้การจัดชั้นเรียนที่ถูกต้องตามหลักการ ผู้สอนควรได้ทราบถึงลักษณะของชั้นเรียนที่ดีสรุปได้ดังนี้

1. ชั้นเรียนที่ดีควรมีสีสันที่น่าดู สบายตา อากาศถ่ายเทได้ดี ถูกสุขลักษณะ

2. จัดโต๊ะเก้าอี้และสิ่งที่ที่อยู่ในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน และกิจกรรมประเภทต่างๆ

3. ให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีความสุข มีอิสรเสรีภาพ และมีวินัยในการดูแลตนเอง

4.ใช้ประโยชน์ชั้นเรียนให้คุ้มค่า ครูอาจดัดแปลงให้เป็นห้องประชุม ห้องฉายภาพยนตร์และอื่น ๆ

5. จัดเตรียมชั้นเรียนให้มีความพร้อมต่อการสอนในแต่ละครั้ง เช่น การทำงานกลุ่ม การสาธิตการแสดงบทบาทสมมุติ

6. สร้างบรรยากาศให้อบอุ่น ให้ความเป็นกันเองกับผู้เรียน

รูปแบบการจัดชั้นเรียน

การจัดชั้นเรียนจัดได้หลายรูปแบบ โดยจัดให้เหมาะสมกับบทเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน จำนวนนักเรียน สภาพแวดล้อมในชั้นเรียน ขนาดของห้องเรียน เป็นต้น ครูควรได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการจัดโต๊ะ เก้าอี้ มุมวิชาการ และมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน เพื่อสร้างบรรยากาศของห้องเรียนให้น่าสนใจไม่ซ้ำซากจำเจ ไม่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนจะเกิดความกระตือรือร้นและกระฉับกระเฉงในการเรียนดีขึ้น การจัดชั้นเรียนถ้าแบ่งตามวิธีการสอนจะได้ 2 แบบ คือ แบบธรรมดาและแบบนวัตกรรม

1. ชั้นเรียนแบบธรรมดา ชั้นเรียนแบบธรรมดาเป็นชั้นเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้นำการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้จากครู การจัดชั้นเรียนแบบนี้จะมีโต๊ะครูอยู่หน้าชั้นเรียน และมีโต๊ะเรียนวางเรียงกันเป็นแถว โดยหันหน้าเข้าหาครูแสดงดังรูป

1.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน การจัดชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ โต๊ะเรียนของนักเรียน อาจเป็นโต๊ะเดี่ยวหรือโต๊ะคู่ก็ได้ ผนังห้องเรียนอาจจะมีกระดานป้ายนิเทศ หรือสื่อการสอนเช่น แผนภูมิ รูปภาพ แผนที่ติดไว้ ซึ่งสื่อการสอนเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนบ่อยนัก การตกแต่งผนังห้องเรียนจะแตกต่างกันออกไปตามแต่สถานที่ตั้งของโรงเรียน โรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองอาจจะมีการตกแต่ง มากกว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไปตมชนบท เพราะหาสื่อการสอนได้ยากกว่า บางห้องเรียนอาจจะมีมุมความสนใจ แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอน

1.2 บทบาทของครูและนักเรียน บทบาทของครูและนักเรียนในชั้นเรียนแบบธรรมดานี้ ครูจะเป็นผู้รอบรู้ในด้านต่างๆ ใช้วิธีการสอนแบบป้อนความรู้ให้แก่นักเรียนโดยการบรรยาย และอธิบายให้นักเรียนฝังอยู่ตลอดเวลา ครูจะเป็นผู้แสดงกิจกรรมต่างๆ เอง แม้กระทั่งการทดลองอย่างง่ายๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ยิบจับ หรือแตะต้องสื่อการสอนที่ครูนำมาแสดง นักเรียนจึงต้องฟังครู มีมีโอกาสได้พูด หรือทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อค้นหาคำตอบใดๆ สื่อการสอนที่ใช้ส่วนมาก ได้แก่ ชอล์ก กระดานดำ และแบบเรียน

2. ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม ชั้นเรียนแบบนวัตกรรม เป็นชั้นเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เทคนิควิธีการแบบสอนใหม่ๆ เช่น การเรียนรู้แบบร่วมมือ แบบโฟร์แมท แบบสตอรี่ไลน์ แบบโครงงาน เป็นต้น ซึ่งทำให้นักเรียนจะมีอิสระในการเรียน อาจเรียนเป็นกลุ่ม หรือเป็นรายบุคคล โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา การจัดชั้นเรียนจึงมีรูปแบบการจัดโต๊ะเก้าอี้ในลักษณะต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเรียงแถวหันหน้าเข้าหาครู เช่น จัดเป็นรูปตัวที ตัวยู วงกลม หรือจัดเป็นกลุ่ม

2.1 ลักษณะการจัดชั้นเรียน การจัดชั้นเรียนแบบนวัตกรรมนี้ โต๊ะครูไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าชั้น อาจเคลื่อนย้ายไปตามมุมต่างๆ การจัดโต๊ะนักเรียนจะเปลี่ยนรูปแบบไปตามลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ส่วนใหญ่นิยมจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน มีการจัดศูนย์สนใจ มีสื่อการสอนในรูปของชุดการสอน หรือเครื่องช่วยสอนต่างๆ ไว้ให้นักเรียนศึกษาด้วยตนเอง หรือศึกษาร่วมกับเพื่อน มีการตกแต่งผนังห้องและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเรื่องที่นักเรียนกำลังเรียน

2.2 บทบาทของครูและนักเรียน การจัดชั้นเรียนแบบนี้ครูจะเป็นผู้กำกับและแนะแนวนักเรียนเป็นผู้แสดงบทบาท ครูจะพูดน้อยลง ให้นักเรียนได้คิด ได้ถาม ได้แก้ปัญหา และได้ทำกิจกรรมด้วยตนเอง นักเรียนอาจจะเรียนด้วยตนเองจากสื่อประสม เช่น บทเรียนแบบโปรแกรม ชุดการสอน คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ครูจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเมื่อจำเป็น ดังนั้น การจัดชั้นเรียนแบบนี้จึงเป็นการจัดชั้นเรียนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักสูตรที่ต้องการให้ผู้เรียนได้คิดค้นคว้า วิเคราะห์วิจารณ์ และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน จนสามารถเรียนรู้ได้ตนเอง

ประเภทของบรรยากาศการเรียนรู้

บรรยากาศการเรียนรู้สามารถจำแนกออกได้ดังนี้

1. บรรยากาศทางจิตวิทยา เป็นลักษณะของบรรยากาศที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของ ผู้เรียนที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้เรียน ถ้าลักษณะบรรยากาศทางจิตวิทยาเป็นไปในทางบวก ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย และมีผลทำให้รู้สึกมีความสุขในการเรียนรู้ ทำให้เป็นผู้ที่รักและใฝ่ในการเรียนรู้

2. บรรยากาศทางกายภาพ เป็นลักษณะของบรรยากาศที่เกิดจากการจัดอาคารสถานที่ สื่อวัสดุอุปกรณ์ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ และสภาพของผู้เรียน การจัดบรรยากาศทางกายภาพที่ตอบสนองผู้เรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนได้รับความสะดวก และดำเนินกิจกรรมด้วยความราบรื่น ส่งผลให้การเรียนรู้ดำเนินไปด้วยดี ไม่ติดขัดไม่รู้สึกว่ามีความยุ่งยาก ทำให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนและเป็นผู้เรียนที่กระตือรือร้น มีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว

3. บรรยากาศทางสังคม เป็นบรรยากาศที่เกิดจากผลการปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มที่อยู่ ร่วมกันและทำกิจกรรมร่วมกัน การมีบรรยากาศทางสังคมที่เป็นมิตรต่อกัน จะทำให้ผู้เรียนรู้สึก อบอุ่นใจเกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน มีการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคมและการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการจัดการศึกษา



การจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้

จากประเภทของบรรยากาศที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น ครูซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศดังกล่าวได้ จึงมีแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพดังนี้

1. บรรยากาศทางจิตวิทยา เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด ควรเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวผู้เรียนรู้มากที่สุด คือความรู้สึกภายใน ทั้งนี้จะต้องไม่มีบรรยากาศของความกลัว ความหวาดระแวง ความดูหมิ่นเหยียดหยาม ติเตียน บรรยากาศของการเรียนรู้ที่เน้นตัวผู้เรียนเป็นสำคัญจะต้องให้อิสรภาพแก่ผู้เรียน โดยเฉพาะอิสรภาพจากความหวาดกลัว ซึ่งจากความเห็นดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบรรยากาศทาง จิตวิทยาที่มีผลต่อความรู้สึก และการกระทำของผู้เรียน บรรยากาศทางจิตวิทยาที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนสามารถดำเนินการได้ดังนี้

1.1 การสร้างบรรยากาศที่ท้าทายกระตุ้นและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็น อยากแก้ปัญหา อยากแสวงหาคำตอบ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาหรือทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้ และให้กำลังใจ เมื่อผู้เรียนได้ลงมือทำหรือตอบสนอง รวมทั้งการยกตัวอย่างความสำเร็จ หรือสิ่งที่ผู้เรียนเคยทำมาก่อนทำให้ผู้เรียนเกิดความมั่นใจในความสามารถ และเกิดความภูมิใจทำให้ไม่มีความกลัวที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป

1.2 การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ปลอดภัย มีความเป็นมิตร ปราศจากความหวาดกลัวที่จะแสดงออก ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวจะทำให้เด็กเป็นคนกล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะคิดลองทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าผลที่ได้นั้นจะเป็นไปตามที่คิดหรือไม่ก็ตาม การสร้างบรรยากาศดังกล่าวสามารถทำได้โดยครูทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้เรียนให้เกิดความราบรื่นในการทำกิจกรรมต่าง ๆโดยอาจเข้าไปช่วยเป็นผู้ร่วมคิดในการทำปัญหาที่ยากให้ง่ายหรือลดความซับซ้อนลง แต่ยังคงให้เด็กได้ใช้ความสามารถของเขาในการเรียนรู้ โดยมีการสนับสนุนเสริมแรง และให้คำปรึกษาจากครู

1.3 บรรยากาศที่เป็นอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง บรรยากาศดังกล่าวนี้จะทำให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ลดการพึ่งพิงผู้อื่น กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง กล้าริเริ่ม มีความคิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ และกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บรรยากาศที่เป็นอิสระนี้ทำได้โดยครูให้โอกาส และสนับสนุนให้เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ครูเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องให้โอกาสแก่เด็กแต่ละคนในการที่จะเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตน และให้เวลาอย่างพอเพียงตามความสนใจของผู้เรียนเนื่องจากเด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้และใช้เวลาในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน แต่แม้ว่าเด็กจะได้รับอิสระดังกล่าว ครูก็ต้องสอนให้เด็กคำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน ความเป็นอิสระของแต่ละคนจะต้องไม่รบกวนหรือทำให้ผู้อื่นมีความสะดวกน้อยลง

1.4 บรรยากาศที่ให้ได้รับความสำเร็จและเรียนรู้ผลที่เกิดจากการทำสิ่งต่าง ๆบรรยากาศดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล มีการกำหนดจุดมุ่งหมายของการทำสิ่งต่าง ๆ และยอมรับผลจากการกระทำทั้งความสำเร็จและผลที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ครูสามารถสร้างบรรยากาศดังกล่าวได้โดยการให้เด็กกำหนดจุดมุ่งหมายและวางแผนที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ และลงมือปฏิบัติตามที่วางแผนไว้ ให้เวลาอย่างเพียงพอที่จะทำตามแผนงาน ครูคอยสนับสนุนให้กำลังใจ คอยแก้ปัญหาเมื่อเด็กต้องการ ให้ได้รับข้อมูลย้อนกลับหลังการปฏิบัติ ให้การเสริมแรงชื่นชมยินดีต่อผลสำเร็จ แต่ถ้าหากผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจถึงการหาความรู้จากความล้มเหลว ให้กำลังใจและให้ทดลองแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ต่างออกไป

1.5 บรรยากาศแห่งการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน โดยการเริ่มจากการที่ครูยอมรับผู้เรียนให้ความสำคัญต่อการคิดและการกระทำของผู้เรียน รับฟังและให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จัดให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มให้ได้รับความสำเร็จจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการยอมรับระหว่างเด็กกับเพื่อน และเกิดความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากครู เห็นความสำคัญของกลุ่ม บรรยากาศดังกล่าวทำให้เกิดการพัฒนาวุฒิภาวะ ได้รับประสบการณ์ทางบวกในการพัฒนาตนเอง เกิดการ นับถือระหว่างกัน ทำให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น สามารถที่จะคิด เลือกและตัดสินใจเข้าใจถึงความสามารถของตนเอง ยอมรับผลการกระทำทั้งที่สำเร็จและทำความเข้าใจได้เมื่อทำผิดหรือล้มเหลว รู้จักนำอุปสรรคหรือความล้มเหลวมาเป็นประสบการณ์การเรียนรู้และแนวทางแก้ปัญหา เนื่องจากเชื่อว่าตนมีความสามารถที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายวิธีเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ

1.6 บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด สนิทสนมและมีความรักใคร่กลมเกลียวกันเนื่องจากเด็กทุกคนต้องการความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ ต้องการการเอาใจใส่ และความรักใคร่ การจัดให้ผู้เรียนอยู่ร่วมกัน ได้เล่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยขจัดหรือลดความขัดแย้งลงให้มากที่สุด หรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย การสอนให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักการให้อภัย และช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดความรู้สึกรักใคร่ กลมเกลียวกัน นอกจากนี้ครูต้องแสดงความรู้สึกที่ดีต่อผู้เรียน แสดงให้ผู้เรียนรับรู้ว่าตนเป็นที่ยอมรับของครู ทั้งการคิดและการกระทำ การแสดงออกของครู ได้แก่ การแสดงท่าทีที่แสดงถึงการเอาใจใส่ทางบวกต่อผู้เรียนอย่างจริงใจที่สอดคล้องกับการแสดงออกทางบวกของผู้เรียน เช่น การสัมผัสทางกาย การมอง การสบตา การใช้คำพูด การแสดงสีหน้าท่าทาง การได้รับการเอาใจใส่ดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการของครู มีความสำคัญเป็นคนหนึ่งที่มีความหมาย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และต่อผู้อื่น บรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ ทำให้เกิดความสุขในการทำสิ่งต่าง ๆ และเกิดการเรียนรู้โดยง่าย

2. การจัดบรรยากาศทางกายภาพ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมด้านอาคาร สถานที่ สื่อ วัสดุอุปกรณ์ และแหล่งความรู้ที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้และการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียน โดยเน้นความสะดวกสบาย สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีเครื่องมือและแหล่งความรู้ สอดคล้องกับกิจกรรมและความต้องการ สำหรับการจัดบรรยากาศทางกายภาพที่ส่งเสริมการเรียนรู้สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

2.1 การจัดสถานที่และบริเวณในห้องเรียนที่อำนวยความสะดวกและตอบสนองการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการกำหนดพื้นที่ในการจัดเก็บอุปกรณ์ เครื่องเล่น ที่เด็กต้องการใช้อย่างเป็นระบบสะดวกในการนำมาใช้ การทำความสะอาดและการจัดเก็บจัดบริเวณการทำกิจกรรมที่สะดวกต่อการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม มีบริเวณที่ว่างพอที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ สามารถเตรียมย้ายไปสู่การทำกิจกรรมอื่นได้โดยไม่รบกวนทำกิจกรรมของผู้อื่น มีการจัดบริเวณสำหรับการจัดแสดงหรือเก็บผลงานที่เกิดจากการทำกิจกรรมของเด็ก

2.2 การจัดสื่อวัสดุ อุปกรณ์ที่สอดคล้องกับกิจกรรม ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยเรียนรู้จากการกระทำ การมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ วัสดุต่าง ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจและแสดงผลการเรียนรู้ผ่านการแสดงออกและจากผลงาน ดังนั้นจะต้องจัดหาสื่อ อุปกรณ์ที่สอดคล้องกับรูปแบบกิจกรรมที่ได้ออกแบบไว้ การมีสื่อ วัสดุอย่างหลากหลาย พอเพียง สะดวกในการนำมาใช้ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้

2.3 การจัดแหล่งความรู้ที่สอดคล้องกับกิจกรรมและความสนใจของผู้เรียน ซึ่งแหล่งความรู้เหล่านี้ ได้แก่ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งที่สอดคล้องกับหน่วยประสบการณ์ที่ผู้เรียนเลือกเรียน และแหล่งความรู้ที่จัดประจำไว้ เพื่อตอบสนองความสนใจที่หลากหลาย การจัดแหล่งความรู้ควรคำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและใช้ได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกันแหล่งความรู้ก็ต้องน่าสนใจ เป็นเครื่องเร้ากระตุ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนอยากสืบเสาะ ค้นหา และลงมือ

3. บรรยากาศทางสังคม เป็นบรรยากาศที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกรักที่จะเรียนรู้และเกิดการเรียนรู้ได้โดยง่าย การเรียนรู้ดังกล่าว ได้แก่ การเรียนรู้ด้านความรู้ และการเรียนรู้ทางสังคม ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา คือ การให้ผู้เรียนมีความรู้ และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างราบรื่นมีความสุข สำหรับการจัดบรรยากาศทางสังคมที่สนับสนุนการเรียนรู้ สามารถดำเนินการได้ดังนี้

3.1 การสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย ให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกัน โดยครูต้องกำหนดให้มีอิทธิพลในห้องให้น้อยที่สุด สร้างระบบการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างครูกับผู้เรียนด้วยกัน ฝึกการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

3.2 การสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจ โดยจัดกิจกรรมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เล่น ทำงานและเรียนรู้จากกลุ่มเพื่อน ครูคอยปรับปรุงการใช้ภาษา มารยาทและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กสามารถทำงานกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างดี เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้เรียนได้ทำสิ่งต่าง ๆ ในบรรยากาศร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งแม้จะมีการแข่งขันกันบ้าง แต่ควรเป็นการแข่งขันกันอย่างเป็นมิตร ได้มีโอกาสได้รับผลแห่งการทำงานร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งด้านความคิด และการกระทำอันส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะทางสังคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะนำไปใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นต่อไป

3.3 สร้างบรรยากาศแห่งการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันทั้งครูกับผู้เรียน ในหมู่ผู้เรียนด้วยกัน และกับบุคคลอื่น ๆ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เริ่มด้วยการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารระหว่างกันนั้นสามารถทำได้ทั้งการใช้วาจา ภาษาท่าทาง และการปฏิบัติต่อกัน ครูมีหน้าที่ในการกระตุ้นให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อกันด้วยดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ครูมีหน้าที่ในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจะต้องเป็นแบบฉบับของการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนเองกับผู้อื่น

3.4 สร้างบรรยากาศที่ไม่กดดัน โดยลดกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขัน เพื่อให้เกิดผลแพ้ ชนะหรือการเป็นที่หนึ่งเหนือผู้อื่น ให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงออกเท่าเทียมกันและได้รับการยกย่องเหมือนกัน สำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ ควรประเมินผลที่แสดงถึงพัฒนาการแห่งความเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ให้ผู้เรียนได้รู้ผลของการกระทำของตนเอง และมีการพัฒนาตนเองโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้อื่น



ปัญหาในการจัดบรรยากาศการเรียนรู้

1. ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ ไม่มีงบประมาณในการส่งเสริมการจัดบรรยากาศการเรียนรู้ เนื่องจากการจัดการตกแต่งห้องเรียนในแต่ละครั้งอาจจะต้องอาศัยงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ

2. ขาดความร่วมมือของบุคลากรและผู้เรียน ในบางห้องเรียนครูผู้สอนและนักเรียนเกิดความขัดแย้งและมองไม่เห็นความสำคัญของการจัดการบริหารชั้นเรียน

3. ครูไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ ครูบางท่านมีภาระการสอนในหลายชั้นเรียน ทำให้ไม่มีเวลาในการปรับปรุงหรือตกแต่งภายในห้องเรียน อีกทั้งขาดประสบการณ์ในการจัดการบริหารห้องเรียน

4. ผู้บริหารไม่สนับสนุน ผู้บริหารในบางโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญและขาดความเข้าใจในการจัดการบริหารชั้นเรียน

การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนและส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถรับผิดชอบควบคุมดูแลตนเอง ได้ในอนาคต การจัดบรรยากาศมีทั้งด้านกายภาพ เป็นการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนทั้งการจัดตกแต่งในห้องเรียน จัดที่นั่ง จัดมุมเสริมความรู้ต่างๆ ให้สะดวกต่อการเรียนการสอน ทางด้านจิตวิทยา เป็นการสร้างความอบอุ่น ความสุขสบายใจให้กับผู้เรียน ผู้สอนควรจัดบรรยากาศทั้ง 2 ด้านนี้ให้เหมาะสม นอกจากนี้การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดความสุขแก่ผู้เรียนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างคุณลักษณะนิสัยของการใฝ่เรียนรู้ การมีนิสัยรักการเรียนรู้ การเป็นคนดี และการมีสุขภาพจิตที่ดีสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั่งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งบุคคลสำคัญที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้นได้ คือ ครูผู้นำทางการเรียนรู้นั่นเองการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากการเรียนรู้ที่ครบวงจร ซึ่งได้แก่การให้ผู้เรียนเลือกเรื่องที่จะเรียนและวิธีการเรียน จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติตามที่ได้คิดไว้โดยการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มแล้วสรุปความรู้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ยังเกิดจากการสนับสนุนจากปัจจัยเอื้อสามประการคือ การเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของวัยหรือพัฒนาการได้แก่ การเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหวและการกระทำ ปัจจัยเอื้อประการต่อมาคือบรรยากาศที่สนับสนุนการเรียนรู้ที่สร้างความรู้สึกมีความสุข ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ส่วนปัจจัยเอื้อที่สามคือการดูแลสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของครูในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้สร้างความรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน กับครู และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดบรรยากาศที่เหมาะสมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก เพราะการเรียนท่ามกลางบรรยากาศที่มีความสุข ผู้เรียนจะเกิดความรู้สึกผ่อนคลายไม่กดดัน ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

การจัดการชั้นเรียนด้านสิ่งแวดล้อมกายภาพ

สภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพ เป็นสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ อาคารสถานที่โต๊ะ เก้าอี้ สื่อ อุปกรณ์การสอนต่างๆ รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติได้แก่ ต้นไม้ พืชภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น สภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านกายภาพ จะส่งผลต่อการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แบ่งออกเป็นสภาพแวดล้อมในห้องเรียนและสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน โดยมีการจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น

สภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน ประกอบด้วยห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ แสงสว่าง สี เสียง อุณหภูมิ เหล่านี้เป็นต้น

1. ห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียน ได้แก่ ห้อง พื้นห้อง ผนัง ประตู หน้าต่าง ขนาดและพื้นที่ว่างภายในห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ อุปกรณ์ตกแต่งห้องเรียน เช่น แจกันดอกไม้ ภาพวาด เป็นต้น

2. แสงสว่าง ได้แก่แสงธรรมชาติจากดวงอาทิตย์ และแสงประดิษฐ์ ซึ่งเป็นแสงจากหลอดไฟประดิษฐ์

3. เสียง ได้แก่ เสียงบรรยายของผู้สอน เสียงการสนทนาระหว่างผู้สอนและผู้เรียนหรือผู้เรียนกับผู้เรียน เสียงจากเครื่องขยายเสียง เหล่านี้จะต้องมีระดับความดังที่พอเหมาะ

4. อุณหภูมิ ได้แก่ ระดับความชื้นของอากาศ การถ่ายเทของอากาศ การระบายอากาศโดยธรรมชาติและการ ระบายอากาศจากอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ได้แก่ พัดลม เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ได้แก่ แหล่งความรู้ต่างๆ เช่น แหล่งวิทยาบริการห้องปฏิบัติการ ห้องทดลอง โรงฝึกงาน ห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรม ต่างๆ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับ การเรียน และการศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากในห้องเรียน

การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ

การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ เป็นการจัดวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมตลอดไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมความรู้ เช่น ป้ายนิเทศ มุมวิชาการ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะวางสื่อการสอน ฯลฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจ แก่ผู้พบเห็น ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว การจัดบรรยากาศทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การจัดสิ่งต่อไปนี้

1. การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน

- ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน

- ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว

- ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน

- ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลมได้ อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน

- ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน

- แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ

2 .การจัดโต๊ะครู

- ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย

- ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน

3. การจัดป้ายนิเทศ ป้ายนิเทศ ไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย

- จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แกนักเรียน

- จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน

- จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้

- จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง

4. การจัดสภาพห้องเรียน ต้องให้ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ

- มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก

- มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป

- ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ

- มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน

5. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน ได้แก่

- มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านคล่อง ส่งเสริม การค้นคว้าหาความรู้ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่าย เหมาะสมกับวัยของนักเรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อยๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อสะดวกต่อการหยิบอ่าน

- มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจ ช่วยเสรมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์ ฯลฯ

- มุมแสดงผลงานของนักเรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของนักเรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย

- ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ให้ดูรกรุงรัง

- การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่มักนิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งต่างๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาด หรือใช้สีสะท้อนแสง อาจทำให้นักเรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียน ควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์ และสวยงาม

- มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด ตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของนักเรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ และหมั่นเช็ดถูให้สะอาดเสมอ

ลักษณะของการจัดชั้นเรียนทางกายภาพที่ดี

จากงานวิจัยในปัจจุบันพบว่าการจัดชั้นเรียนทางกายภาพที่ดีนั้นจะสะท้อนลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีการจัดที่ว่างในชั้นเรียนอย่างชัดเจน เพื่อใช้อเนกประสงค์แลละเพื่อให้นักเรียนมั่นใจในการใช้ที่ว่างของตน ตัวอย่างเช่น ชั้นเรียนจะประกอบด้วยพื้นที่ทั้งในส่วนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างพลุกพล่านได้แก่ บริเวณที่มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ร่วมกัน และที่ว่างส่วนตัวที่นักเรียนจะทำงานได้โดยลำพัง เช่น โต๊ะในแถวของนักเรียนแต่ละคน เป็นต้น

2. ในชั้นเรียนที่มีนักเรียนมีปัญหาทั้งทางด้านการเรียนและด้านพฤติกรรมอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการแยกออกมาอยู่ในที่ว่างมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนสงบ มีสมาธิในการทำงานได้อย่างอิสระตามลำพัง

3. มีที่ว่างส่วนตัวของนักเรียนแต่ละคน และมีพื้นที่ของนักเรียนทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มเล็กสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ จึงควรจัดสถานที่เฉพาะเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนหรือระหว่างนักเรียนกับครู และอาจจะมีที่ว่างสำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ สื่ออุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ

4. ลักษณะที่นั่งของนักเรียนเป็นแถวเพื่อสะดวกในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาการ ในขณะที่การจัดที่นั่งแบบกลุ่ม จะทำให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

5. การจัดชั้นเรียนในบริเวณที่จำกัดและมีการใช้อย่างหนาแน่น เช่น บริเวณที่เหลาดินสอ ที่วางถังขยะหลังห้อง หรือบริเวณที่มีการเรียนการสอน ตลอดจนส่วนที่จะทำให้นักเรียนถูกรบกวนโดยง่าย ครูควรจัดให้นักเรียนนั่งห่างออกไป

6. ครูและนักเรียนทั้งชั้นควรมองเห็นกันและกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ลักษณะของการเคลื่อนไหวในชั้นเรียนนั้น ควรให้ครูมีโอกาสใกล้ชิดนักเรียนได้มากที่สุด

7. ควรจำกัดสิ่งเร้าทางการมองเห็นและการได้ยินที่จะมารบกวนความสนใจ และพฤติกรรมของนักเรียนซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อการดำเนินในชั้นเรียน

8. การจัดที่ว่างสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษควรให้นั่งอยู่ใกล้กับครูจะทำให้เกิดผลดี เพราะการทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ครูสามารถจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสำหรับนักเรียนเท่านั้น หากแต่ยังจะช่วยครูให้สามารถพูดส่งเสริมนักเรียนในทางบวก โดยอนุโลมหรือยินยอมทำให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาบ้าง

9. การจัดชั้นเรียนทางกายภาพที่เป็นระเบียบเรียบร้อยจะมีประโยชน์และทำให้เกิดพลังเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามสภาพทางกายภาพในชั้นเรียนควรจะเปลี่ยนแปลงได้ตามลักษณะทางวัฒนธรรม และทางภาษาของนักเรียน ซึ่งควรจะเป็นไปตามความต้องการเฉพาะของนักเรียน



การจัดการชั้นเรียนทางด้านจิตวิทยา

การจัดการชั้นเรียนทางด้านจิตวิทยา หมายถึง การจัดการเกี่ยวกับความรู้สึก เจตคติและพฤติกรรมของนักเรียน มีความอบอุ่น ความสบายใจ ความเป็นกันเอง ความสัมพันธ์อันดีต่อกันมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน มีความกล้า มีความอิสระ ในการแสดงออก อย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน โดยปราศจากความกลัว ความวิตกกังวล มีบรรยากาศของการเรียนรู้สร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปด้วยความสุข ซึ่งนักเรียนจะเกิดบรรยากาศความรู้สึกอย่างนี้ก็ต้องขึ้นกับครูเป็นสำคัญ ซึ่งในแต่ละชั้นเรียนจะขึ้นอยู่กับแนวคิด หรือความเชื่อในการจัดการศึกษาของครูหรือของสังคมในแต่ละยุคสมัย ว่ามุ่งให้นักเรียนมีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนอย่างไร เช่น ต้องการให้ห้องเรียนเงียบสงบ เพื่อให้นักเรียนทุกคนตั้งใจเรียน และมุ่งอยู่กับการทำงานตรงหน้าให้สำเร็จ ซึ่งบางครั้งห้องเรียนสงบเรียบร้อยอาจทำให้นักเรียนบางคนไม่มีความสุขและอาจเกิดปัญหาการหนีโรงเรียน เป็นต้น หรือครูบางคนอาจมุ่งให้นักเรียนมีการเรียนรู้ร่วมกัน มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการทำงานในลักษณะ ของการร่วมมือกันภายในกลุ่ม หรือแลกเปลี่ยนกันระหว่างกลุ่มห้องเรียน ลักษณะเช่นนี้ย่อมมีความคลื่นไหวมีเสียงพูดคุยกันดัง พอสมควร จึงแตกต่างจากห้องเรียนประเภทแรก ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะดำเนินการจัดการชั้นเรียนอย่างไรนั้น ครูมืออาชีพควรสำรวจหรือพิจารณาความเชื่อของตนเองว่ามุ่งให้นักเรียนอยู่ในชั้นเรียน ด้วยความรู้สึก เจตคติ ค่านิยม และการเรียนรู้ในรูปแบบใด และมีแนวทางการดำเนินการในชั้นเรียนของตนอย่างไร



แนวคิดการจัดการชั้นเรียนของคูนิน

ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการชั้นเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยจากการสังเกตชั้นเรียน เปรียบเทียบพฤติกรรมของการจัดชั้นเรียนบันทึกภาพกิจกรรมในชั้นเรียนที่มีการจัดการที่ดี ทั้งที่มองเห็นได้ เช่น ความมีระเบียบเรียบร้อยสวยงาม หรือมีการวางแผนที่ดี การแบ่งสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ของชั้นเรียนอย่างชัดเจนการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หยิบใช้ได้อย่างสะดวก มีการเคลื่อนที่อย่างเป็นระเบียบ ส่วนการจัดการชั้นเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้น ได้แก่ ห้องเรียนที่ครูต้องคอยวุ่นวายกับการจัดระบบชั้นเรียนหรือการเรียนของนักเรียนถูกรบกวนตลอดเวลาหรือชั้นเรียนที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของการสอนที่เน้นเนื้อหาทางวิชาการ ในตอนแรกคูนิน วิเคราะห์โดยให้ความสำคัญกับ ความสามารถของครู ในการจัดการกับเหตุการณ์ที่เข้าขัดขวางการดำเนินงานในชั้นเรียน ผลการวิเคราะห์ ไม่พบปัจจัยที่มี ความแตกต่างชัดเจนระหว่างครูที่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านวิธีการตอบสนองต่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือวิธีการดำเนินงานที่เป็นระบบ อย่างไรก็ตามจากวิจัย คูนินได้วิเคราะห์ติดตามผลและพบว่าครูที่สามารถจัดการชั้นเรียนที่ดีนั้นแสดงออกถึงพฤติกรรมที่สำคัญดังนี้

1) Withitness ครูจะต้องตระหนักและรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกส่วนของห้องเรียนอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในขณะที่ครูทำงานกับนักเรียนกลุ่มย่อยหรือรายบุคคลและแสดงให้เห็นถึงการติดตามพฤติกรรมของนักเรียน โดยการเข้าไปมีส่วนแก้ไขสถานการณ์ในทันทีและอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น นับเป็นพฤติกรรมสำคัญที่ครูจะสามารถจัดการกับสิ่งผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้นในชั้นเรียนโดยการสังเกตและเข้าไปอยู่ระหว่างความขัดแย้งนั้นได้ก่อน แม้จนกระทั่งเหตุการณ์ที่มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ครูก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทวนที

2) Overlapping เป็นการจัดการที่ครูสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับผิดชอบต่อความต้องการของนักเรียนแต่ละคนในขณะเดียวกันก็ยังต้องสนับสนุนดูแลการทำงานของนักเรียนเป็นกลุ่มโดยการใช้สายตาในการสื่อสาร หรือใช้การใกล้ชิดทางกายเพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้กลับมาอยู่กับบทเรียนในขณะที่ครูยังคงดำเนินการสอนไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุดหรือขัดจังหวะแต่อย่างใด

3) Signal continuity and momentum during lessons เป็นการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องและการเปลี่ยนกิจกรรมในระหว่างบทเรียน การสอนที่มีการเตรียมการอย่างดีและการดำเนินการสอนตามบทเรียนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญนั้น ครูจะมีความตั้งใจในการจัดการเรียนเนื้อหาวิชาอย่างต่อเนื่องมากกว่าการบังคับให้เกิดการแข่งขัน ครูจึงมีทักษะในการส่งสัญญาณให้นักเรียนที่กำลังแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ (เช่นการเดินเข้าไปยืนใกล้ๆ นักเรียนที่ไม่สนใจบทเรียน หรือถามนักเรียนคนนั้นในเรื่องที่ครูกำลังสอนอยู่) เพื่อดึงความสนใจของเด็กให้กลับมาอยู่ที่บทเรียนโดยไม่รบกวนนักเรียนคนอื่นที่กำลังตั้งใจเรียน นอกจากนั้นครูจะสามารถเปลี่ยนหัวข้อเรื่องที่จะสอนหรือเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนในระหว่างบทเรียนด้วยความราบรื่นและต่อเนื่องโดยไม่สะดุด

4) Challenge and variety in assignment เป็นการมอบหมายงานที่หลากหลายท้าทายเป็นการกระตุ้นนักเรียนให้สนใจบทเรียนได้แก่ การมอบหมายงานในชั้นเรียนอย่างเหมาะสมโดยมีความยากง่ายพอเหมาะ คือง่ายพอที่จะแน่ใจว่านักเรียนจะได้ใช้ความพยายามในการทำงานและควรเป็นสิ่งใหม่หรือยากพอที่จะท้าทายความสามารถของนักเรียนโดยมีความหลากหลายเพื่อที่จะทำให้นักเรียนสนใจตลอดเวลา

คูนินเชื่อว่าครูที่สามารถจัดการชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่เป็นเพียงเพราะความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่เพราะเป็นความสามารถในการป้องกันเกิดปัญหาตั้งแต่แรกนอกจากนี้ ครูเหล่านี้ยังเน้นการสร้างห้องเรียนให้มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยการเตรียมการสอนและการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมและการให้นักเรียนทำงานตามที่ครูกำหนดให้ดีที่สุด

การจัดการชั้นเรียนทางด้านจิตวิทยาเป็นการจัดการชั้นเรียนที่มีความเข้าใจ การเรียนรู้การส่งเสริมในจิตใจของนักเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีโดยจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อการส่งเสริมความเข้าใจ ความกระตือรือร้นในการเรียน รวมถึงขจัดสิ่งต่างที่เป็นสิ่งรบกวนออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของครูที่ต้องจัดการสิ่งเหล่านี้เพื่อให้สมกับการเป็นครูมืออาชีพ ซึ่งการจัดการชั้นเรียนทางด้านจิตวิทยาประกอบด้วย

1. บทบาทในการเป็นผู้นำของครู

ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในชั้นเรียน เป็นผู้สร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้มีสภาพน่าเรียนรู้ อบอุ่น หรือว่าตึงเครียดน่ากลัว โดยครูต้องทราบความคาดหวังที่นักเรียนมีต่อครู และครูมีต่อนักเรียน โดยครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกทางพฤติกรรมนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การทำความเคารพการพูดการจา การตรงต่อเวลา เป็นต้นบทบาทในการเป็นผู้นำของครูแต่ละประเภทจะมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียนที่มีต่อโรงเรียนและยิ่งไปกว่านั้นอาจมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียนที่มีต่อผู้อื่นหรือต่อตนเองอีกด้วยไดรกเคอร์ แบ่งประเภทของลักษณะของบุคลิกภาพและบทบาทในการเป็นผู้นำของครูออกเป็น 3 ประเภทดังนี้







1.1 ครูประเภทเผด็จการ

ถ้าครูเข้มงวด                                        นักเรียนจะหงุดหงิด

ถ้าครูหน้านิ่วคิ้วขมวด                        นักเรียนจะรู้สึกเครียด

ถ้าครูฉุนเฉียว                                       นักเรียนจะอึดอัด

ถ้าครูปั้นปึ่ง                                          นักเรียนจะกลัว

ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย นักเรียนจะขาดความเคารพ

ถ้าครูใช้น้ำเสียงดุดัน                          นักเรียนจะหวาดกลัว

ครูที่มีลักษณะเผด็จการ ( autocratic teacher ) ครูที่มีลักษณะเช่นนี้เชื่อว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินการใด ๆ ในชั้นเรียนตั้งแต่การจัดตกแต่งห้องเรียนทางกายภาพเพื่อการจัดระเบียบในชั้นเรียน การจัดตารางเรียนที่ไม่ยืดหยุ่น จากความคิด เช่น นี้ ครูจึงมีความรับผิดชอบที่จะกำหนดกฎระเบียบทั้งหมดของชั้นเรียนซึ่งรวมถึงการกำหนดบทลงโทษแก่นักเรียนที่ประพฤติผิด กฎด้วยตัวของครูเองทั้งหมด ครูที่มีลักษณะเช่นนี้มี ความเชื่อว่าตนเองมีความรู้เป็นสำคัญทั้งในด้านการบรรยาย การแสดงความคิดเห็นและการกำหนดงานให้นักเรียนทำ นักเรียนมีหน้าที่เชื่อฟังและทำตามกฎระเรียบและงานที่ครูกำหนดให้ทำ

1.2 ครูประเภทปล่อยปะละเลย

ถ้าครูท้อถอย                                         นักเรียนจะท้อแท้

ถ้าครูเฉยเมย                                         นักเรียนจะเฉื่อยชา

ถ้าครูเชื่องช้า                                        นักเรียนจะหงอยเหงา

ถ้าครูใช้น้ำเสียงราบเรียบ                  นักเรียนจะไม่สนใจฟัง

ถ้าครูปล่อยปละละเลย                       นักเรียนจะขาดระเบียบวินัย

ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย                  นักเรียนจะขาดความเคารพ

ครูมีลักษณะปล่อยปะละเลย (Permissive) ครูลักษณะนี้จะมีลักษณะโอนอ่อนผ่อนตามและไม่มีพลัง ในชั้นเรียนอาจจะมีกฎระเบียบเพียงเล็กน้อยให้นักเรียนได้ปฏิบัติและไม่ได้ให้ความสนใจกับการที่นักเรียนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ การลงโทษของครูประเภทนี้มักจะให้อภัย ไม่ค่อยเอาจริงเอาจังกับนักเรียนที่ประพฤติผิดระเบียบและดูเหมือนครูจะไม่มีอำนาจมากเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนทำงานตามที่ครูกำหนด บรรยากาศในชั้นเรียนเช่นนี้จะทำให้นักเรียนรู้สึกสับสนเพราะไม่รู้ว่าครูต้องการให้นักเรียนทำอะไรหรือเป็นอย่างไรจึงเป็นที่พึ่งประสงค์ของครูลักษณะครูประเภทนี้จะทำให้ชั้นเรียนขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะนักเรียนแต่ละคนก็จะทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจที่ครูก็ไม่ได้ว่าอะไร

1.3 ครูประเภทประชาธิปไตย

ถ้าครูแสดงความเป็นมิตร                  นักเรียนจะอบอุ่นใจ

ถ้าครูยิ้มแย้ม                                                         นักเรียนจะแจ่มใส

ถ้าครูมีอารมณ์ขัน                                               นักเรียนจะเรียนสนุก

ถ้าครูกระตือรือร้น                                              นักเรียนจะกระปรี้กระเปร่า

ถ้าครูมีนำเสียงนุ่มนวล                                      นักเรียนจะสุภาพอ่อนน้อม

ถ้าครูแต่งตัวเรียบร้อย                                         นักเรียนจะเคารพ

ถ้าครูให้ความเมตตาปรานี                                นักเรียนจะมีจิตใจอ่อนโยน

ถ้าครูให้ความยุติธรรม                                       นักเรียนจะศรัทธา

ครูที่มีลักษณะประชาธิปไตย (Democratic Style ) ครูที่เป็นประชาธิปไตยจะมีลักษณะของความเป็นเผด็จการหรือปล่อยปะละเลย แต่จะมีความมั่งคง มีเหตุผลเกี่ยวกับความคาดหวังของตนที่มีค่าการเรียนรู้และการแสดงพฤติกรรมของเด็ก ครูจะใช้การอภิปรายร่วมกับนักเรียนและให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบของชั้นเรียนรวมทั้งกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืนกฎนอกจากนี้อาจร่วมกับนักเรียนในการทบทวนกฎระเบียบของชั้นเรียนได้อยู่เสมอหากมีความจำเป็นเพื่อให้กฎระเบียบเหล่านั้นมีความเหมาะสมต่อการนำไปปฏิบัติ ครูที่เป็นประชาธิปไตยจะเป็นผู้ที่พร้อมที่จะตัดสินปัญหาใด ๆ แต่ก็ยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียน ผลของการเป็นครูประชาธิปไตยจะเป็นการสร้างพลังของความเชื่อมั่นและความรู้สึกของการเป็นเจ้าของชั้นเรียนให้กับนักเรียนในทำนองเดียวกันก็จะทำให้ครูรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดีในห้องเรียนนั้น

ครูที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภทข้างต้น เป็นบทบาทในการเป็นผู้นำของครู เพราะฉะนั้นในยุคการศึกษาปัจจุบัน ครูที่สมควรเป็นผู้นำคือ ครูที่มีลักษณะประชาธิปไตย เพราะจะเป็นการสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความมั่นใจในตัวเองและเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ระบบประชาธิปไตยของชาติด้วย

2. พฤติกรรม เทคนิค ทักษะการสอนของครู

การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนครูผู้สอนต้องมีเทคนิค วิธีการในการถ่ายทอดที่น่าสนใจ หลากหลาย มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ควรสอนแบบเดียวกันนานเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเบื่อ เช่นการสอนบรรยาย ควรมีการสอดแทรกกิจกรรมการทดลอง การอภิปราย การแบ่งกลุ่มทำงานเพื่อเพิ่มความสนใจของเด็กต่อการเรียนรู้และให้นักเรียนมีความรู้ เจตคติ และทักษะตามที่หลักสูตรกำหนด ซึ่งพฤติกรรมของครูควรเป็นลักษณะดังต่อไปนี้

- ตอบสนองพฤติกรรมของนักเรียนโดยใช้เทคนิคการเสริมแรงที่เหมาะสม เช่น ใช้วาจา ใช้ท่าทาง ให้รางวัล และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้ทำกิจกรรมที่นักเรียนชอบ ครูควรเริมแรงให้ทั่วถึงและเหมาะสม

- เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น และยอมรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน แสดงให้นักเรียนเห็นว่าความคิดของเขามีประโยชน์ พยายามนำความคิดเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้

- ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม การให้ทำงานเป็นกลุ่มจะช่วยให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ใช้ความรู้ความคิดความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ฝึกการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและได้ผลงานนำมาสู่ความภาคภูมิใจในกลุ่มและตนเอง ในการมอบหมายงานให้กลุ่มทำนั้น ครูควรคำนึงถึงความยากง่ายของงาน ความรู้และความสามารถของนักเรียนในกลุ่ม เพื่อให้งานกลุ่มประสบความสำเร็จ เป็นการสร้างความรู้สึกทางบวกให้แก่นักเรียน งานใดที่ครูเห็นว่ายาก ครูควรเข้าไปดูแลกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันคิดแก้ปัญหาในกลุ่มของตน ครูจะต้องมีความอดทนที่จะไม่รีบชี้แนะ หรือบอกวิธีการแก้ปัญหาตรง ๆ ต้องฝึกให้นักเรียนใช้วิธีการต่าง ๆ หลาย ๆ แบบจนสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ

- ใช้เทคนิคและวิธีสอนที่ไม่ทำให้นักเรียนเบื่อหน่ายในการเรียน ครูควรคิดค้นคว้าและแสวงหาแนวทางวิธีการใหม่ ๆ มาใช้จัดการเรียนการสอน วิธีการสอนควรเป็นวิธีที่ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หรือนักเรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรม เช่น วิธีการสอนแบบทดลอง แบบแก้ปัญหา แบบแสดงบทบาทสมมุติ แบบสืบสวนสอบสวน แบบแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม แบบอภิปราย แบบศูนย์การเรียน ตลอดจนนวัตกรรมการสอนที่น่าสนใจ การจะใช้วิธีสอนแบบใดนั้นครูต้องเลือกให้เหมาะสมกับบทเรียน ระยะเวลา สติปัญญา และวัยของนักเรียน







3. เทคนิคการปกครองชั้นเรียน

เทคนิคหรือวิธีการที่ครูใช้ปกครองชั้นเรียนมีส่วนส่งเสริมในการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา กล่าวคือ ถ้าครูปกครองชั้นเรียนด้วยความยุติธรรม ยึดหลักประชาธิปไตย ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ทุกคนยอมรับ ยินดีปฏิบัติ นักเรียนก็จะอยู่ในห้องเรียนอย่างมีความสุข เกิดความรู้สึกอบอุ่นพอใจและสบายใจ ในทางตรงกันข้าม ถ้าครูโลเล ไม่ยุติธรรม เลือกที่รักมักที่ชัง ปกครองชั้นเรียนแบบเผด็จการ นักเรียนจะเกิดความรู้สึกไม่ศรัทธาครู ไม่เห็นคุณค่าของระเบียบกฎเกณฑ์ ส่งผลให้นักเรียนไม่สนใจเรียน ไม่อยากมาโรงเรียนในที่สุด ดังนั้นเทคนิควิธีการปกครองชั้นเรียนของครูจึงมีความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาด้วย ซึ่งครูควรยึดหลักดังต่อไปนี้

3.1 หลักประชาธิปไตย ครูควรให้ความสำคัญต่อนักเรียนเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาคให้อิสระ ให้โอกาสแก่ทุกคนในการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันครูต้องใจกว้าง ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน และควรฝึกให้นักเรียนปฏิบัติตนตามสิทธิหน้าที่ รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ให้รู้จักการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตย

3.2 หลักความยุติธรรม ครูควรปกครองโดยใช้หลักความยุติธรรมแก่นักเรียนทุกคนโดยทั่วถึง นักเรียนจะเคารพศรัทธาครู และยินดีปฏิบัติตามกฎระเบียบของครู ยินดีปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอนของครู ตลอดจนไม่สร้างปัญหาในชั้นเรียน

3.3 หลักพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้

เมตตา หมายถึง ความรักและเอ็นดุ ความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข

กรุณา หมายถึง ความสงสาร คิดจะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

มุทิตา หมายถึง ความยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ลาภยศ สุข สรรเสริญ

อุเบกขา หมายถึง ความเที่ยงธรรม การวางตัวเป็นกลาง การวางใจเฉย

ถ้าครูทุกคนยึดหลักพรหมวิหาร 4 ในการปกครองชั้นเรียน นอกจากจะทำให้นักเรียนมีความเคารพรักศรัทธาครู และมีความสุขในการเรียนแล้วยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่นักเรียนด้วย

3.4 หลักความใกล้ชิด การที่ครูแสดงความเอาใจใส่ ความสนใจ ให้ความใกล้ชิดกับนักเรียน เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา วิธีการแสดงความสนใจนักเรียนทำได้หลายวิธี ซึ่งประกอบด้วย

1. ครูจะต้องรู้จักนักเรียนในชั้นทุกคน รู้จักชื่อจริง ชื่อเล่น ความสนใจของเด็กแต่ละคนเป็นต้นว่า งานอดิเรก มีพี่น้องกี่คน จุดเด่น จุดด้อย ของนักเรียนแต่ละคน

2. ครูจะต้องแสดงความสนใจในสารทุกข์สุขดิบของเด็กแต่ละคน เช่น หมั่นถามความเป็นไปของพี่น้อง ความคืบหน้าของการสะสมแสตมป์ คือ ไม่เพียงรู้แต่ว่าเด็กเป็นอะไรในข้อ 1 แต่รู้ข่าวคราวเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้นด้วย

3. ครูจะมอบเวลาของตนเพื่อเด็ก เวลาที่นอกเหนือจากงานสอน ได้แก่ เวลาเย็นหลังเลิกเรียน ช่วงพักระหว่างการเรียน เพื่อช่วยเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ ว่าต้องการขอคำปรึกษา ต้องการขอคำแนะนำในการหารายได้พิเศษ ครูจะต้องพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กได้ตลอดเวลา

4. ครูจะต้องใกล้ชิด สัมผัสทั้งร่างกายและจิตใจ คำสั่งสอนและการกระทำของครูจะต้องสอดคล้องกัน เป็นต้นว่า ถ้าครูจะอบรมสั่งสอนเด็กเรื่องความซื่อสัตย์ ครูจะต้องปฏิบัติตนเป็นคนซื่อสัตย์ด้วยเช่นกัน กายสัมผัสก็เป็นสิ่งจำเป็น การจับต้องตัวบ้าง จะเป็นสื่อนำให้เด็กรู้สึกถึงความใกล้ชิดสนิทสนม

4. ปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน

ปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน หมายถึงความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่าง 2 คนหรือบุคคล 2 ฝ่ายโดยต่างฝ่ายต่างมีอิทธิผลซึ่งกันและกัน ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและครูถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนการสอนในขั้นแรก ในการเจอกันครั้งแรกของครูกับนักเรียนบุคลิกภาพของครูจะส่งผลต่อความรู้สึกของนักเรียน ถ้าครูดูมีความอบอุ่น เป็นกันเอง มีความเป็นมิตร เด็กก็จะไว้วางใจและมีความรู้สึกกับครู แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าครูดูไม่เป็นมิตร ไม่มีความอบอุ่น เข้มงวดนักเรียนก็จะไม่มีความรู้สึกที่ดีกับครู รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีจิตใจในการเรียนรู้วิชานั้น และอาจเป็นปัญหาในเวลาต่อมาคือเด็กทำให้ความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนเป็นไปในทางที่ไม่ดีไม่มาโรงเรียน ไม่เข้าเรียน และผลการเรียนวิชานั้นอาจตกต่ำ ซึ่งปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนมี 3 ลักษณะด้วยกัน คือ

4.1 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ถ้าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี หมายถึง ทั้งครูและนักเรียนต่างมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถาม ครูให้ความเป็นกันเองแก่นักเรียน ให้นักเรียนมีอิสระ และมีความสบายใจในการทำกิจกรรม บรรยากาศภายในห้องเรียนก็จะไม่ตึงเครียด เป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์ น่าเรียน น่าสอน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี แนวทางในการสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบครูควรดำเนินการ ดังนี้

1. เริ่มสร้างความสัมพันธ์

2. สร้างสัดส่วนของคำพูดทางบวกและทางลบอย่างสม่ำเสมอ

3. สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจเกี่ยวกับความคาดหวังระดับสูงของตน

4. ร่วมกันควบคุมดูแลการแสดงพฤติกรรมให้เป็นไปตามความคาดหวัง

5. สร้างทางเลือกเพื่อนำไปสู่กฎกติกาในชั้นเรียน

4.2 ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียนจะเต็มไปด้วยความอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่ดีให้แก่นักเรียนได้ถ้านักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คือ มีความสมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันฯลฯ นักเรียนจะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้นั้น ขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ กล่าวคือ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน ปกครองดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง สั่งสอนอบรมบ่มนิสัย และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักเรียนได้ถูกต้อง นักเรียนก็จะค่อย ๆ ซึมซับและซับเอาสิ่งที่ดีงามไว้ปฏิบัติจนเป็นคุณลักษณะเฉพาะตนที่พึงประสงค์ เมื่อนักเรียนทุกคนต่างเป็นคนดี เพราะมีครูดี ทุกคนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อันเป็นส่วนสร้างเสริมให้เกิดบรรยากาศที่พึงปรารถนาขึ้นในห้องเรียน

4.3 ปฏิสัมพันธ์ทางวาจา หมายถึง การพูดจาร่วมกันในชั้นเรียนระหว่างครูกับนักเรียน อาจเป็นการบรรยาย การอภิปราย การถามคำถาม การมอบหมายงาน การพูดของนักเรียน เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ครูควรใช้คำพูดที่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ควรเป็นน้ำเสียงที่ดูอบอุ่น ยอมรับ เห็นใจ เข้าใจ ถ้าเป็นการตั้งคำถามหรือถามนักเรียนควรเป็นคำถามที่ส่งเสริมให้นักเรียนคิดแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นและยังเป็นการเรียนรู้พฤติกรรมความรู้สึกของเด็กขั้นพื้นฐานว่าเด็กมีความรู้สึก เจตคติอย่างไรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เช่น คำชมเมื่อนักเรียนทำงานได้ดี ทันเวลา มาเรียนทุกวันโดยทั่วไปครูใช้การสื่อสารกับนักเรียนในสามด้าน คือ

1. เพื่อระบุความต้องการที่ครูต้องการให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

2. เพื่อแจ้งผลการกระทำของนักเรียน

3. เพื่อเสนอความคาดหวังทางบวกของนักเรียน

สำหรับการสื่อสารเราอาจไม่ใช้คำพูดเพียงอย่างเดียวก็ได้ เราอาจใช้การกระทำเป็นการสื่อสาร เช่น การเดินไปมาในห้องเรียน การสบสายตานักเรียน ฯลฯ ซึ่งผลดีของการมีปฏิสัมพันธ์ทางวาจาที่ดีต่อกัน สรุปได้ดังนี้

1. การแสดงออกทางวาจาด้วยดีระหว่างครูกับนักเรียน จะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน

2. ช่วยให้การเรียนได้ผลดี เพราะมีการสื่อความหมายที่ถูกต้อง เข้าใจกัน

3. ช่วยให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะรับวิชาการ หรือทำความเข้าใจบทเรียนและกล้าแสดงความคิดเห็นโดยไม่หวาดกลัวครู

4. ช่วยให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจในตัวครู มีเหตุผล

5. ช่วยให้แก้ปัญหาการเรียนการสอนในชั้นได้

6. ช่วยสร้างบรรยากาศที่อื้ออำนวยให้เกิดเจตคติ ความสนใจ ค่านิยม และผลการเรียนรู้ เป็นไปตามจุดหมายที่กำหนดไว้

การสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวาจานั้นควรใช้อิทธิพลทางอ้อม (Indirect Influence) ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมทางวาจาที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็น เช่น ครูยอมรับความรู้สึกของนักเรียน ครูชมเชยสนับสนุนให้กำลังใจ ครูยอมรับหรือนำความคิดเห็นของนักเรียนมาใช้ ครูถามเพื่อให้นักเรียนตอบ ฯลฯ โดยครูหลีกเลี่ยงการใช้อิทธิพลทางตรง (Direct Influence) ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมที่ครูแสดงฝ่ายเดียว เช่น ครูบรรยาย ครูสั่งการ ครูวิจารณ์ฝ่ายเดียว ดังนั้น ครูควรสร้างปฏิสัมพันธ์ทางวาจาโดยใช้อิทธิพลทางอ้อม เพื่อส่งผลดีต่อการเรียนการสอน

5. การสร้างกฎระเบียบร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับครู

เป็นสิ่งที่จำเป็นและเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการชั้นเรียนของครู ไม่ว่ากฎระเบียบเหล่านั้นจะกำหนดขึ้นมาจากครูเอง จากความร่วมมือกันระหว่างครูกับนักเรียนหรือจากนักเรียนที่สามารถกำหนดกติกาของการอยู่ร่วมกันขึ้นเองโดยการแนะนำการมีครูเป็นที่ปรึกษา ไม่ว่าแนวคิดในการจัดการชั้นเรียนจะเน้นที่อำนาจของครูหรือเน้นความรับผิดชอบของนักเรียน หรือแม้กระทั่งเน้นความเป็นตัวของตัวเองของนักเรียนก็ตามเพราะด้วยความเชื่อที่ว่า การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมจำเป็นที่จะต้องมีกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน การเคารพสิทธิของผู้อื่น การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองด้วยความรับผิดชอบ ตลอดจนปฏิบัติตามกฎกติกาที่ได้กำหนดไว้ด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้ครูต้องชี้แจงให้นักเรียนเขาใจและยอมรับว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบในชั้นเรียน จะทำให้นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้อย่างราบรื่นปราศจากอุปสรรคด้วยศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในตนเอง ทั้งยังเป็นการวางพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันแบบประชาธิปไตย เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอีกด้วย แนวทางการปฏิบัติจริงในชั้นเรียนเกี่ยวกับการกำหนดกฎระเบียบที่เหมาะสมครูที่เป็นครูมืออาชีพอาจดำเนินการได้ดังนี้

1. ในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนในแต่ละปีการศึกษา ครูอาจเริ่มต้นด้วยการกำหนดความคาดหวังของครูที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมของเด็กทั้งในด้านการเรียนและการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกับเพื่อนซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจรวมถึงการแจ้งคุณลักษณะอันพึ่งประสงค์ของหลักสูตรซึ่งสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้แล้วในหลักสูตร นอกจากนี้ครูอาจกำหนดความคาดหวังของครูที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมของเด็กทั้งในด้านการเรียนและการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อน ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจรวมถึงการแจ้งคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของหลักสูตรซึ่งสถานศึกษาที่จัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้แล้วในหลักสูตรนอกจากนี้ครูอาจกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กเพิ่มเติมจากลักษณะเฉพาะของเด็กในแต่ละวัยที่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น

2. กำหนดกฎระเบียบของชั้นเรียนโดยระบุเป็นข้อ ๆ แนวทางในการกำหนดกฎระเบียบที่นักเรียนในแต่ละชั้นเรียนจะต้องปฏิบัติตามนั้นครูอาจทำได้ดังนี้

2.1 เขียนด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เข้าใจง่ายและครอบคลุม การกำหนดกฎระเบียบหากเขียนด้วยข้อความที่เข้าใจยากและซับซ้อนเกินไปทำให้เด็กเข้าใจสับสนหรือจดจำยากก็อาจทำให้เด็กไม่สนใจที่จะปฏิบัติตาม

2.2 ควรเป็นกฎระเบียบที่ครูเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียนของนักเรียน เช่น การเคารพในสิทธิของผู้อื่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพื่อน การส่งงานตรงตามเวลาที่กำหนด

2.3 ควรเป็นกฎระเบียบที่ให้ความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ต้องการจะบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เพราะกฎกติกาในชั้นเรียนส่วนใหญ่กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งให้นักเรียนได้สามารถพัฒนาความสามารถทางการเรียนได้บรรลุจุดประสงค์ การจัดการชั้นเรียนจึงเป็นการขจัดสิ่งที่จะเป็นอุปสรรคที่จะรบกวนการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดโดยมีครูคอยดูแลช่วยเหลือ

2.4 การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพิจารณาปรับปรุง กฎระเบียบกติกาของห้องเรียน ครูอาจเป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบของห้องเรียนในระยะแรกของการเรียนหรือระยะต้นปีการศึกษาแต่ในระยะเวลาต่อมาเมื่อนักเรียนและครูเริ่มคุ้นเคยวิธีเรียนและวิธีสอนของแต่ละฝ่ายแล้ว นักเรียนอาจมีบทบาทมากขึ้นในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียนให้เหมาะสมกับสภาพนักเรียน เช่น การที่ครูกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าชั้นเรียนสายไว้แต่เมื่อพบว่านักเรียนในชั้นเรียนทุกคนไม่ได้ประพฤติผิดกฎในข้อนี้เลยและทุกคนมีความกระตือรือร้นที่อยากจะเข้าห้องเรียนทุกครั้ง กฎระเบียบข้อนี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไปโดยอาจจะมีการเพิ่มเติมกฎระเบียบอื่นที่นักเรียนเห็นว่าจำเป็น เช่นการไม่แย่งกันพูด หรือพูดเสียงดังจนเกินไป เป็นต้น

2.5 กฎระเบียบที่ดีควรจะระบุผลที่ตามมาของการไม่ปฏิบัติตามกฎซึ่งอาจเรียกว่า เป็นบทลงโทษ อาจเป็นเงื่อนไขหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างนักเรียนเช่น การให้ทำงานเพิ่ม การช่วยเหลือเพื่อนมากขึ้นโดยบทลงโทษที่กำหนดขึ้นควรเป็นที่ยอมรับของนักเรียนและอาจจะต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษโดยใช้วิธีการใหม่ๆหากมีการผิดซ้ำอีกเพราะบางครั้งวิธีลงโทษที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอาจไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาหรือหยุดพฤติกรรมนั้นแต่กลับกลายเป็นการเสริมแรงทางบวกให้นักเรียนได้แสดงพฤติกรรมที่มีปัญหานั้นเพิ่มมากขึ้นตัวอย่างเช่น ครูคาดโทษนักเรียนที่ทำผิดโดยเขียนชื่อนักเรียนไว้บนกระดานหรือการทำโทษหน้าชั้นเรียน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นแรงเสริมให้นักเรียนทำความผิดซ้ำอีกเพราะตนเองได้กลายเป็นจุดเด่นของชั้น แสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของห้องแม้จะเป็นไปในทางลบก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ควรปรับเปลี่ยนวิธีการลงโทษไปเป็นวิธีอื่นที่จะทำให้เด็กรู้สึกผิดต่อการกระทำของตนและจะไม่ได้ยอมรับหรือได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อน ในขณะเดียวกันนักเรียนที่มีความประพฤติดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบของชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอก็ควรได้รับการยกย่องชมเชยตามวาระโอกาสที่เหมาะสม เพื่อเป็นการเสริมแรงให้เด็กเหล่านี้ได้แสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ต่อไป

สรุป การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนการสอนและเกิดความศรัทธาในครูผู้สอน ดังนั้น ครูผู้สอนจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา โดยปรับบุคลิกภาพความเป็นครูให้เหมาะสมปรับพฤติกรรมการสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี มีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งการสร้างการสร้างกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันของชั้นเรียนโดยที่ผู้เรียนยอมรับและปฏิบัติตาม เพื่อการเรียนการสอนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และนักเรียนมีเจตคติความรู้สึกนึกคิดที่ดีต่อครู ต่อวิชา ต่อโรงเรียน และนักเรียนก็จะเรียนรู้อย่าง เก่ง ดี มีสุข



สภาพแวดล้อมทางด้านสังคม

ได้แก่สภาพแวดล้อมที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น คามสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน นักเรียนกับครูผู้สอน รวมถึงกฎ ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน องค์ประกอบของ สภาพแวดล้อมทางการเรียนด้านสังคม เช่น

- การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน จากงานวิจัยพบว่า บรรยากาศในชั้นเรียน มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

- การสร้างแรงจูงใจ หากนักเรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียน จะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น แรงจูงใจจะมีทั้งภายนอกและ ภายใน สำหรับแรงจูงใจภายนอกนั้นผู้สอนสามารถกระตุ้นเพื่อให้นักเรียนสามารถ แสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ต้องการได้

- ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ความสำเร็จด้านวิชาการและพฤติกรรมของนักเรียนมีผลมาจากความ สัมพันธ์ ที่มีระหว่างครูและนักเรียน กล่าวคือ คุณภาพของความสัมพันธ์และการให้ความสนับสนุน ร่วมมือกันส่วนบุคคล ในชั้นเรียน มีผลต่อระดับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน เนื่องมาจนสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ และความ สัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน และมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการทำกิจกรรมด้านการเรียน

ดังนั้น จะเห็นว่าการจัดการบริหารชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนและร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยมีครูเป็นผู้วางแผนและกระบวนการส่งเสริมทั้งทางด้านกายภาพ จิตวิทยา และสังคม โดยมีสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ของมาสโลว์ (Maslow)ที่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการพื้นฐานอย่างเป็นลำดับขั้น เริ่มตั้งแต่ขั้นความต้องการทางด้านร่างกาย ขั้นความต้องการความมั่นคง ขั้นความต้องการการยอมรับและยกย่องจากสังคมและขั้นความต้องการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ทำให้ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทำให้ครูต้องเป็นผู้ช่างสังเกตว่านักเรียนมีความต้องการพื้นฐานในระดับใด และพยายามช่วยเหลือตอบสนองความต้องการของนักเรียน ให้ความเป็นอิสระและเสรี รวมทั้งจัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และรู้จักตนเอง

 อ้างอิง https://sites.google.com/site/darunsitpattanarangsan/sara-na-ru/kar-prakan-khunphaph-sthan-suksa

ทฤษฎีและหลักการบริหารจัดการ

การบริหาร

ดร.สาโรช บัวศรี เคยกล่าววว่า การบริหารนั้นเป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีมนุษยสัมพันธ์ โดยถือว่าในสังคมหนึ่งๆ ทุกคนมีความต้องการทำงานเพื่อสังคมนั้นๆ จึงจำเป็นจะต้องกำหนดงานกันว่า ใครจะทำอะไร จะทำอย่างไร โดยตกลงกันว่าควรจะอยู่ในวงงานที่กำหนดไว้ และควรจะใช้วิธีการใด

ดร.พนัส หัสนาคินทร์ ได้เขียนคำจำกัดความไว้ในหนังสือ "หลักการบริหารโรงเรียน" ว่า "การบริหารนั้นหมายถึง การที่ผู้บริหารใช้อำนาจที่มีอยู่ จัดการดำเนินงานให้งานของสถาบันนั้นๆ ดำเนินไปสู่จุดหมายที่ต้องการ" ดังนั้น การบริหารจะต้องประกอบด้วย แผนงาน ผู้บริหาร และอำนาจของผู้บริหาร เพื่อจัดการให้งานดำเนินไปตามแผนงานที่วางไว้

ทฤษฎีการบริหาร

ทฤษฎี หมายถึง แนวความคิดหรือความเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ มีการทดสอบและการสังเกตจนเป็นที่แน่ใจ ทฤษฎีเป็นข้อสรุปอย่างกว้างที่อธิบายพฤติกรรมการบริหารองค์กร อย่างเป็นระบบ ถ้าทฤษฎีได้รับการพิสูจน์บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นกฎเกณฑ์ ทฤษฎีเป็นแนวความคิดที่มีเหตุผลและสามารถนำไปประยุกต์ และปฏิบัติได้

ทฤษฎีองค์กรดั้งเดิม

ทฤษฎีองค์กรดั้งเดิม แบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน คือ การจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) และการจัดการทางบริหาร (Administrative Management)

1. การจัดการตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวคิดของเทเลอร์ สรุปออกมาเป็นหลักการสำคัญและเกี่ยวข้องได้ 4 ประการ ดังนี้

1.1 หลักการวิเคราะห์งานตามหลักวิทยาศาสตร์ (Scientific of Analysis) จากการสังเกต การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวัดอย่างรอบคอบ ฝ่ายจัดการจะกำหนดวิธีที่ดีที่สุด (On Best Way) ของการปฏิบัติในแต่ละงานไว้ แล้วฝึกผู้ทำงานให้ทำได้ตามนั้น การวิเคราะห์เช่นนี้แทนวิธีการแบบลองผิดลองถูก

1.2 หลักการคัดเลือกบุคลากร (Selection of Personnel) เมื่อวิเคราะห์แต่ละงานแล้ว หลักต่อไปจะต้องคัดเลือกผู้มาปฏิบัติงานหรือผู้ทำงาน แล้วฝึกอบรม สอน และพัฒนาผู้ทำงานเหล่านั้น

1.3 หลักการความร่วมมือของฝ่ายจัดการ (Management Cooperation) ฝ่ายการผู้จัดการควรร่วมมือกับผู้ทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่างานทั้งหมดที่กำลังทำอยู่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว และมีมาตรฐานและวิธีการตามที่กำหนดไว้ของฝ่ายการจัดการ

1.4 หลักการแบ่งงานกันทำระหว่างผู้จัดการกับผู้ทำงาน (Division of Work Between Managers and Workers) เทเลอร์ยอมรับในการแบ่งงานกันทำ (Division of Work) โดยมีการแบ่งงานระหว่างผู้จัดการและผู้ทำงาน เพื่อให้ผู้จัดการรับผิดชอบการวางแผน (Planning) และการเตรียมงาน (Perparing Work) และรับผิดชอบการควบคุมดูแล (Supervising) ส่วนผู้ทำงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานของตน

2. การจัดการทางการบริหาร การจัดการทางการบริหารเน้นการจัดการทั่วทั้งองค์การ ผู้บุกเบิกสำคัญของทฤษฎีการจัดการทางการบริหารคือ อองรี ฟาโยล ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น " บิดาแห่งทฤษฎีองค์การ " ฟาโยล ได้ให้หลักการเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้จัดการ และหลักการของการจัดองค์การ ไว้ดังนี้

1. การแบ่งงานกันทำ (division of work) คือ การแบ่งแยกงานกันทำตามความถนัด ความมุ่งหมายของการแบ่งงานกันทำ เพื่อปรับปรุงประสิทธิผลของงานโดยลดการสูญเปล่า เพิ่มผลผลิต และทำให้การฝึกอบรมง่ายขึ้น

2. อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (authority & responsibility) อำนาจหน้าที่ คือ สิทธิในการออกคำสั่ง และอำนาจในการทำให้ผู้อื่นเชื่อฟัง ส่วนความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่เป็นความจำเป็นที่ต้องทำงานตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้สำเร็จ

3. วินัย (discipline) หมายถึง การเคารพในกฎระเบียบที่ควบคุมองค์การ ข้อตกลงระกว่างองค์การกับผู้ทำงานต้องมีความชัดเจน และสภาวะของวินัยในกลุ่มใดในองค์การขึ้นอยู่กับคุณภาพของภาวะผู้นำ

4. เอกภาพของการบังคับบัญชา (unity of command) ผู้ทำงานควรได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ถ้ายึดหลักการข้อนี้จะเลี่ยงปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และวินัย

5. เอกภาพของทิศทาง (unity of direction) กิจกรรมของกลุ่มที่มีเป้าหมายอันเดียวกันควรจะต้องดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกัน ควรจัดกลุ่มให้อยู่ภายใต้ผู้จัดการคนเดียว

6. ความสนใจส่วนตัวเป็นรอง (subordination of individual interest) เพื่อที่จะให้สำเร็จผลตามเป้าหมายขององค์การ ความสนใจของแต่ละคนและกลุ่มคนภายในองค์การควรมาทีหลังความสนใจขององค์การโดยรวม

7. หลักของการให้ผลประโยชน์ตอบแทน (remuneration) การให้ค่าตอบแทนเป็นตัวเงินหรือค่าชดใช้ต่างๆ ควรยุติธรรมและเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายผู้ทำงาน และฝ่ายองค์การ

8. การรวมอำนาจ (centralization) หมายถึง ว่าในการบริหารจะมีการรวมอำนาจไว้ที่จุดศูนย์กลาง เพื่อให้ควบคุมส่วนต่าง ๆ ขององค์การไว้ได้เสมอ และการกระจายอำนาจจะมากน้อยเพียงใดก็ย่อมแล้วแต่กรณี

9. สายบังคับบัญชา (scalar chain) สายการบังคับบัญชา คือสายของหัวหน้า นับตั้งแต่ตำแหน่งผู้มีอำนาจสูงสุดจนถึงตำแหน่งล่างสุด สายการบังคับบัญชาจะต้องชัดเจนและถือเป็นแนวปฏิบัติตลอดเวลา

10. ระเบียบ (order) ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าสิ่งของหรือคน ต่างต้องมีระเบียบและรู้ว่าตนอยู่ในที่ใด อยู่ถูกกาลเทศะหรืออยู่ถูกที่ในเวลาที่เหมาะสม

11. ความยุติธรรม (equity) ผู้บริหารต้องยึดถือความเอื้ออารีและความยุติธรรมเป็นหลักปฏิบัติต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความจงรักภักดี และการอุทิศตนเพื่องาน

12. ความมั่นคงของบุคลากร (stability of personnel) องค์การที่ประสบความสำเร็จต้องมีกองปฏิบัติงานที่มั่นคง การปฏิบัติของฝ่ายการจัดการควรส่งเสริมปณิธานการทำงานระยะยาวให้กับองค์กร

13. การริเริ่ม (initiative) ผู้บังคับบัญชาควรจะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยได้ใช้ความริเริ่มของตนบ้าง ส่งเสริมให้ผู้ทำงานพัฒนาและดำเนินแผนการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

14. ความสามัคคี (esprit de corps) ผู้จัดการควรส่งเสริมและรักษาทีมงาน น้ำใจหมู่พวก และความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างผู้ทำงานทั้งหมด

ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์

ทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์ มีสมมุติฐานซึ่งประกอบด้วยแนวคิดดังนี้

1. ผู้ทำงานได้รับแรงจูงใจจากความต้องการด้านสังคมและด้านจิตวิทยาและสิ่งตอบแทนทางเศรษฐกิจ

2. ความต้องการเหล่านี้ ได้แก่ การยอมรับนับถือการเป็นเจ้าของ และความปลอดภัย มีความสำคัญต่อการกำหนดขวัญในการทำงานและการผลิตของผู้ทำงานได้มากกว่าสภาพทางกายภาพของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

3. ความคิดเห็น ความเชื่อ แรงจูงใจ สติปัญญา การตอบสนองต่อความไม่สบายใจ ค่านิยม และองค์ประกอบในทำนองนี้ของแต่ละบุคคล อาจมีผลกระทบต่อพฤติกรรมในสภาพการทำงาน

4. ผู้ทำงานมีขวัญในการทำงานสูงขึ้น และทำงานหนักขึ้นภายใต้การบริหารจัดการแบบเกื้อหนุน (supportive management) นักทฤษฎีมนุษยสัมพันธ์เชื่อว่าขวัญในการทำงานเพิ่มขึ้นทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย

5. การสื่อสาร อำนาจ อิทธิพล อำนาจหน้าที่ การจูงใจ และการจัดแจง มีความสัมพันธ์กันที่สำคัญยิ่งภายในองค์การ โดยเฉพาะระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ช่องการสื่อสารที่มีประสิทธิผลควรได้รับการพัฒนาขึ้นมาระหว่างระดับต่างๆ ในสายการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น มนุษยสัมพันธ์เน้นภาวะผู้นำแบบประชาธิปไตยมากกว่าผู้นำแบบอัตตาธิปไตย

ทฤษฎีพฤติกรรมศาสตร์

มีแนวคิด หลักการที่หลายๆคนได้แสดงไว้ดังนี้

เชสเตอร์ ไอ บาร์นาร์ด มีแนวคิดคือ ระบบความร่วมมือ ซึ่งเป้นความพยายามที่จะบูรณาการหลักการมนุษยสัมพันธ์กับการบริหารแบบเก่าเข้าด้วยกัน ให้เป็นกรอบแนวคิดเดียวกัน บาร์นาร์ดเห็นว่าผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องมีเงื่อนไขอยู่สองประการ ถ้าต้องการให้ได้ทั้งความร่วมมือและความสำเร็จทางการเงินขององค์การ เงื่อนไขทั้งสองประการคือ ประสิทธิผล ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องเน้นความสำคัญของประสิทธิผล ซึ่งหมายถึงระดับของการบรรลุเป้าหมายทั่วไปขององค์การ และ ประสิทธิภาพ ผู้บริหารหรือผู้จัดการต้องเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิผล ซึ่งหมายถึงความพึงพอใจของแรงขับแต่ละบุคคล ของพนักงานในองค์การนั้นๆ

ประเด็นที่สำคัญของทฤษฎีความร่วมมือของบาร์นาร์ดมีอยู่ว่า องค์การจะทำงานและอยู่รอดได้ต่อไป ก็ต่อเมื่อเป้าหมายขององค์การและเป้าหมายของแต่ละบุคคลมีความสมดุลกันเท่านั้น ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้จัดการจึงจำเป็นต้องมีทั้งทักษะด้านมนุษย์และทักษะด้านเทคนิควิชาการ

มาสโลว์ ว่าด้วยการจัดอันดับขั้นของความต้องการของมนุษย์ เป็นเรื่องแรงจูงใจแบ่งความต้องการของมนุษย์ตั้งแต่ความต้องการด้านกายภาพ ความต้องการด้านความปลอดภัยความต้องการด้านสังคม ความต้องการด้านการเคารพนับถือ และประการสุดท้าย คือ การบรรลุศักยภาพของตนเอง คือมีโอกาสได้พัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุดจากการทำงาน ผู้บริหารจะต้องจัดหาหนทางสนองความต้องการของผู้ทำงานซึ่งส่งเสริมเป้าหมายขององค์การด้วย และเพื่อขจัดสิ่งที่มาขัดขวางการสนองความต้องการและทำให้เกิดความไม่สบายใจ เจตคติในทางลบ หรือพฟติกรรมที่ไม่พึงปฏิบัติ

ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y Douglas McGregor ได้เสนอทฤษฎีนี้ใน ค.ศ. 1957

ทฤษฎี X ก็คือ ภาพพจน์ของคน ในแนวมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเชื่อว่าโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นคนดี ดังนั้นคนจึงควรควบคุมตนเองได้ การควบคุมตนเองหมายถึงการปรับปรุงองค์การในเรื่องต่างๆ เช่น การกระจายอำนาจ การมอบหมายอำนาจ หน้าที่ การขยายงาน การมีส่วนร่วม และการบริหารงาน โดยยึดเป้าหมาย จึงเห็นได้ว่าข้อเสนอการปรับปรุงงานของ McGragor เป็นการย้ำให้เห็นความสำคัญ ของคน และช่วยให้คนหลุดพ้นจากการควบคุมขององค์การ ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของมนุษย์ นิยมที่จะเห็น ว่าคนมาก่อนองค์การ มนุษย์นิยมต้องการหาจุดที่พบกันได้ แต่ต้องการรักษาความมีเสรีภาพไว้ การมองคนว่าเป็นประเภท X หรือ Y นั้นเป็นการช่วยให้เราแยกแยะคนได้ ทำให้รู้ว่าใครเป็นเพื่อนที่ดี หรือนายที่ดี ซึ่งเรียกการมองแบบนี้ว่า Polarization

ทฤษฎีการจูงใจ - สุขอนามัยของเฮอร์เบอร์ก (Herzberg's Motivation Hygiene Theory)

ทฤษฎีเกี่ยวกับการจูงใจของ เฮอร์เบอร์ก ทฤษฎีนี้ได้ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับองค์ประกอบที่จะ สนับสนุนความพอใจในการทำงาน (Job Satisfaction) และองค์ประกอบที่สนับสนุนความ ไม่พอใจในการทำงาน (Job dissatisfaction) ดังนี้

พวกที่ 1 ตัวกระตุ้น (Motivator) คือ องค์ประกอบที่ทำให้เกิดความพอใจ

- งานที่ปฏิบัติ

ความรู้สึกเกี่ยวกับความสำเร็จของงาน

- ความรับผิดชอบ

- โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

พวกที่ 2 ปัจจัยสุขอนามัย (Hygiene) หรือ องค์ประกอบที่สนับสนุนความ ไม่พอใจในการทำงาน ได้แก่

- แบบการบังคับบัญชา

- ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

- เงินเดือนค่าตอบแทน

- นโยบายของการบริหาร

ทฤษฎีระบบสังคม (Social System Theory)

ทฤษฎีนี้ Getzels และ Guba ได้สร้างขึ้นเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมในองค์การต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็น ระบบสังคม แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสถาบันมิติ (Nomothetic Dimension) และด้านบุคลามิติ (Idiographic Dimension)

ในด้านสถาบันมิตินั้นจะยึดถือเรื่องสถาบันซึ่งมีบทบาทต่างๆ เป็นสำคัญ บทบาทที่สถาบันได้คิด หรือกำหนดไว้จะต้องชี้แจงให้บุคลากรในสถาบันได้ทราบอย่างชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดการคาดหวังที่ สถาบันได้กำหนดไว้ในบทบาทของตนออกมา ตรงกับความต้องการของผลผลิตของสถาบันนั้น ส่วนในด้าน บุคลามิติ ประกอบด้วย ตัวบุคคลที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันนั้น ซึ่งบุคคลที่ปฏิบัติงานอยู่ก็มีบุคลิกภาพ ที่เป็นตัวเองที่ไม่เหมือนกัน ในแต่ละคนต่างก็มีความต้องการในตำแหน่งหน้าที่การงานที่แตกต่างกันออกไป ทั้งสองมิตินี้ระบบสังคมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริหารงานเป็นอันมาก ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นดี การบริหารงานนั้นสามารถที่จะสังเกตพฤติกรรมได้

ที่มา : https://sites.google.com/site/

ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้หรือแผนการสอนที่ดี


ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี ควรมีดังนี้
1. มีความละเอียด ชัดเจน มีหัวข้อและส่วนประกอบต่าง ๆ ครอบคลุมตามหลักการของการสอน
         1.1 สอนเกี่ยวกับอะไร (หน่วยการเรียนรู้ หัวเรื่อง ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ)
         1.2 เพื่อจุดประสงค์อะไร (จุดประสงค์การเรียนรู้ ซึ่งควรเขียนเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม)
         1.3 สาระอะไร (เนื้อหา / โครงร่างเนื้อหา)
         1.4 ใช้วิธีการใดในการสอน (กิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ)
         1.5 ใช้เครื่องมืออะไรในการสอน (วัสดุอุปกรณ์ สื่อและแหล่งการเรียนรู้)
         1.6 เราจะทราบได้อย่างไรว่าแผนการเรียนรู้ที่เราออกแบบจะประสบความสำเร็จ (การวัดและประเมินผล)
2. แผนการจัดการเรียนรู้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
3. ส่วนประกอบต่าง ๆ ของแผนการจัดการเรียนรู้มีความสอดคล้องสัมพันธ์เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เช่น
         3.1 จุดประสงค์การเรียนรู้ครอบคลุมสาระ / เนื้อหา และเป็นจุดที่พัฒนาผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการและเจตคติ
         3.2 กิจกรรมการเรียนรู้ ควรสอดคล้องกับจุดประสงค์และเนื้อหา / สาระ
         3.3 วัสดุอุปกรณ์ สื่อ และแหล่งการเรียนรู้ ควรสอดคล้องสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้
         3.4 การวัดผลและประเมินผล ควรสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้
แผนการจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้
1. มีการวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำตารางวิเคราะห์คำอธิบายรายวิชา หรือวิเคราะห์สาระการเรียนรู้ จัดทำหน่วยการเรียนรู้ และจัดทำกำหนดการสอนหรือโครงการสอน
2. มีการวิเคราะห์ผู้เรียน โดยการจัดกลุ่มผู้เรียนตามความรู้ ความสามารถ ความสนใจ และความถนัด แล้วนำไปเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามศักยภาพของผู้เรียนเพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3. มีการกำหนดเนื้อหาสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ศักยภาพของผู้เรียน และความต้องการของท้องถิ่น รวมทั้งการบูรณาการระหว่างวิชา
4. มีการกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน มีการบูรณาการ เน้นการคิด (ทักษะการคิด ลักษณะการคิด และกระบวนการคิด) การฝึกทักษะ การปฏิบัติจริง และการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
5. มีการกำหนดสื่อ /นวัตกรรม/แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง กิจกรรมการเรียนรู้ วัยและความสามารถของผู้เรียน และให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเลือก จัดหาและจัดทำสื่อ/แหล่งการเรียนรู้
6. มีการกำหนดการวัดผลและประเมินผล สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและกิจกรรมการเรียนรู้ มีการวัดผลตามสภาพจริง ให้ครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ
7. มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เน้นคุณธรรม จริยธรรม และมีการบูรณาการตามความเหมาะสม
8. มีความสมบูรณ์ถูกต้อง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ
ประโยชน์ของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี
         1. ทำให้เกิดการวางแผนวิธีสอนวิธีเรียนที่มีความหมายยิ่งขึ้น เพราะเป็นการจัดทำอย่างมีหลักการที่ถูกต้อง
         2. ช่วยให้ครูมีคู่มือการสอนที่ทำด้วยตนเอง ทำให้เกิดความสะดวกในการจัดการเรียนการสอน ทำให้สอนได้ครบถ้วนตรงตามหลักสูตร และสอนได้ทันเวลา
         3. เป็นผลงานวิชาการที่สามารถเผยแพร่เป็นตัวอย่างได้
         4. ช่วยให้ความสะดวกแก่ครูผู้มาสอนแทนในกรณีที่ผู้สอนไม่สามารถเข้าสอนได้

 การมีแผนการสอนที่ดีก็เหมือนการวางรากฐานการศึกษาให้คนในประเทศ คุณครูลองเอาแนวคิดนี้ไปพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน และยิ่งจะเป็นการที่ทำให้ครูได้เตรียมตัวล่วงหน้าก่อนทำการสอนและจะได้เห็นรูปแบบการสอนนักเรียนล่วงหน้าค่ะ

อ้างอิง  ลักษณะอย่างไรจะเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2560 จาก : http://www.koonkroo.info/ลักษณะอย่างไรจะเป็นแผน/
การเขียนแผนการสอน คือภารกิจของครู สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2560 จาก : http://202.29.87.101/artilces/PlanBU_Khean.asp
ลักษณะของแผนจัดการเรียนรู้ที่ดี สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2560 จาก : http://www.nana-bio.com/Research/image%20research/research%20work/plan2/Plan203.html

พัฒนาการของมนุษย์

พัฒนาการของมนุษย์

วัยทารก เริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 2 ปี
        พัฒนาการ วัยทารกเป็นวัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการวางรากฐานของชีวิต วัยนี้เริ่มตั้งแต่คลอดออกจากครรภ์มารดาจนถึงประมาณ 2 ปีแรกของชีวิต  หลังจากที่คลอดออกมาจากครรภ์มารดาแล้ว  ทารกจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอยู่ต่อไปให้ได้  นอกจากการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่แล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งในวัยทารก คือ บุคคลรอบข้างของเด็ก ได้แก่ มารดาหรือผู้เลี้ยงดู ซึ่งดูแลให้อาหาร ให้ความรักความอบอุ่น  สัมผัสอุ้มชูด้วยความรัก  และทำความสะอาดร่างกายให้ ทารกจะได้เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเป็นครั้งแรกในวัยนี้ ซึ่งทักษะการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนี้จะเป็นทักษะที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นในสังคมต่อไปในอนาคต

        พัฒนาการด้านร่างกาย วัยทารกจะมีการเปลี่ยนแปล­งทางด้านโครงสร้างของร่างกายและการรู้จักใช้อวัยวะต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทางการเคลื่อนไหว การใช้กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส ทารกที่อยู่ในช่วงนี้จึง    ไม่ค่อยจะอยู่นิ่งชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม

        พัฒนาการทางสติปัญญา  สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาสติปัญญาในวัยนี้ ได้แก่ โอกาสที่เด็กจะได้เล่นเพราะการเล่นเป็นการส่งเสริมความเข้าใจสิ่งแวดล้อม  ความสามารถที่จะเข้าใจภาษาและใช้ภาษาที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส เพราะระยะนี้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยอาศัยกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสเป็นสื่อเป็นส่วนใหญ่ การที่เด็กได้มีโอกาสจับ เห็น ได้ยิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาสติปัญญาอย่างมาก

        พัฒนาการทางอารมณ์ อารมณ์ของเด็กในวัยนี้จะเปลี่ยนแปลงง่ายรวดเร็วขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า อารมณ์โกรธมีมากกว่าอารมณ์อื่นๆ  เพราะเป็นระยะที่เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง พยายามฝึกฝนตนเองเพื่อให้สามารถช่วยตนเอง อารมณ์กลัวเกิดมากเป็นอันดับสองรองจากอารมณ์โกรธอารมณ์อยากรู้อยากเห็นเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่มีค่อนข้างมากเกิดจากความต้องการรู้จักสิ่งแวดล้อม  อารมณ์ประเภทนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาสติปัญญา ถ้าบิดามารดาส่งเสริมให้ถูกวิธีจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางด้านสติปัญญาได้
พัฒนาการทางสังคม หมายถึง พฤติกรรมที่เด็กสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ตั้งแต่ บิดามารดาหรือผู้เลี้ยงดู ขยายออกไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว บุคคลอื่นๆ ในชุมชน ในโรงเรียนและในสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิก พฤติกรรมทางสังคมของแต่ละบุคคลจะแสดงออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับอิทธิพลต่างๆ หลายประการ ที่บุคคลเรียนรู้และได้รับในวัยทารก  เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะที่เด็กได้รับอาหารการได้รับอาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเด็กในวัยนี้ ฟรอยด์เชื่อว่าความสุขของคนในระยะนี้อยู่ที่การได้กินอาหาร ดังนั้นถ้าเด็กไม่มีความสุขอย่างเพียงพอเกี่ยวกับการกินอาหารจะส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาการทางสังคมและพัฒนาการทางอารมณ์ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ภายในบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในบ้านทั้งในแง่ดีและไม่ดีจะเป็นรอยประทับไว้ในจิตใจของเด็ก โดยที่เด็กไม่รู้สึกตัว เด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบความสัมพันธ์เหล่านี้ไปปฏิบัติในชีวิตอนาคต การฝึกหัดให้เด็กรู้สึกเคารพระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นรากฐานที่สำคัญของพฤติกรรมทางสังคมในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น

        พัฒนาการทางภาษา  ทารกแรกเกิดใช้การร้องไห้การทำเสียงที่ยังไม่เป็นภาษาเป็นเครื่องสื่อความหมาย  การฝึกในการพูดภาษาของเด็กอาศัยการเรียนรู้และการเลียนแบบ
วัยเด็ก เริ่มตั้งแต่อายุ 2 – 12 ปี

แบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ ได้แก่

 1. วัยเด็กตอนต้นหรือระยะวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 2 ขวบ จนถึง 6 ขวบ

พัฒนาการทางร่างกาย ในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับระยะวัยทารกสัดส่วนของร่างกายจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ฉะนั้นจึงเป็นระยะที่เหมาะที่สุดที่จะฝึกได้เล่นกีฬาประเภทเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เหมาะกับกำลังของเด็ก ซึ่งจะช่วยการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา
ฒนาการทางอารมณ์  เด็กในวัยนี้จะมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายกว่าเด็กในวัยทารก ดื้อรั้นเอาแต่ใจ   เจ้าอารมณ์ในระยะนี้เด็กโกรธง่ายเนื่องจากอยากเป็นตัวของตัวเอง ความสำเร็จในการเป็นตัวของตัวเองได้สมใจ

        พัฒนาการทางภาษา ในระยะนี้เด็กใช้ภาษาพูดได้แล้วแต่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กจะพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาจนใช้งานได้ดีในช่วงระยะวัยเด็กตอนต้น เมื่อสิ้นสุดระยะนี้ไม่ว่าเด็กชาติไหนสามารถพูดภาษาแม่ของตนได้ดีเท่าผู้ใหญ่ วัย 6 ขวบเป็นระยะสุดท้ายของพัฒนาการ ภาษาพูด (Speech)  นอกจากภาษาพูดแล้วเด็กบางคนเริ่มพัฒนาภาษาเขียนและเริ่มอ่านหนังสือ

        พัฒนาการทางสังคม  เด็กจะเริ่มรู้จักเข้าหาผู้อื่น เริ่มแสวงหาเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน เด็กหญิงและเด็กชายเริ่มมองเห็นความแตกต่างระหว่างเพศ (Sex Difference)  เริ่มตระหนักว่าตนเป็นเพศหญิงหรือชาย  และควรจะประพฤติตนอย่างไรจึงจะสมกับเป็นผู้หญิง หรือสมกับเป็นผู้ชาย (Sexual Typing)  การเรียนรู้เหล่านี้ นอกจากเด็กจะเรียนด้วยอาศัยการสังเกตและการเลียนแบบแล้วยังถูกอบรมแนะนำจากผู้ใหญ่ด้วย

        พัฒนาการทางศีลธรรมจรรยาและค่านิยม ความนึกคิดเกี่ยวกับอะไรถูกผิด เด็กยังคิดเห็นเป็นเหตุผลด้วยตนเองไม่ได้ ยังต้องอาศัยผู้อบรมเลี้ยงดูให้คำแนะนำแต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคำแนะนำก็คือการทำเป็นแบบอย่างเพื่อให้เด็กเลียนแบบ 

        2. วัยเด็กตอนต้นหรือระยะวัยเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จนถึง 12 ขวบ

        พัฒนาการทางร่างกาย เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในระหว่างนี้เป็นระยะที่เด็กหญิงโตเร็วกว่าเด็กชายวัยเดียวกันในด้านความสูงและน้ำหนัก  ลักษณะเช่นนี้ยังคงดำรงต่อไปจนกระทั่งย่างเข้าสู่ระยะวัยรุ่นตอนปลาย เด็กชายจะโตทันเด็กหญิงและล้ำหน้าเด็กหญิง  เด็กในวัยนี้ไม่ชอบอยู่นิ่งชอบเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ

        พัฒนาการทางสังคม มีลักษณะพัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัด คือ เด็กเริ่มออกจากบ้านไปสู่หน่วยสังคมอื่น จุดศูนย์กลางสังคมของเด็กคือโรงเรียน เด็กจะเรียนรู้บทบาทใหม่คือการเป็นสมาชิกของกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เด็กจะได้รับการเรียนรู้ระเบียบกฎเกณฑ์ ความประพฤติที่ต้องปฏิบัติในสังคม

        พัฒนาการทางอารมณ์  เด็กรู้จักกลัวสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่าวัยก่อน เพราะความสามารถในการใช้เหตุผลของเด็กพัฒนาขึ้น มีความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่นมากขึ้น

        พัฒนาการทางสติปัญญา เด็กวัยนี้สามารถคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น รู้จักให้เหตุผลในการแก้ปัญหา รับผิดชอบและตัดสินใจได้ด้วยตนเองรับฟังคนอื่นมากขึ้น กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ ชอบสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เด็กวัยนี้จะสนใจในเรื่องของธรรมชาติ การท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ โดยทั่วไปเด็กผู้ชายจะสนใจเรื่องการพิสูจน์ ทดลอง ส่วนเด็กผู้หญิงจะสนใจเรื่องการทำอาหาร เย็บปักถักร้อย การอ่านหนังสือต่างๆ
 พัฒนาการทางภาษา เด็กจะเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น  ใช้ภาษาพูดแสดงความคิดความรู้สึกได้อย่างดี ความรู้สึกทางด้านจริยธรรมเริ่มพัฒนาการในระยะนี้ มีความรับผิดชอบมากขึ้นเริ่มสนใจสิ่งถูกสิ่งผิด

วัยย่างเข้าสู่วัยรุ่น ปกติหญิงเฉลี่ยมีอายุ 12 ปี ชายเฉลี่ยมีอายุ 14 ปี

        พัฒนาการทางร่างกาย เจริญเติบโตถึงขีดสมบูรณ์(Maturation)  เพื่อทำหน้าที่อย่างเต็มที่โครงสร้างกระดูกแข็งแรงขึ้น การผลิตเซลล์สืบพันธุ์ในเด็กชาย การมีประจำเดือนของเด็กหญิงสุขภาพโดยทั่วไปของเด็กในวัยนี้ดีกว่าวัยที่ผ่านมา

        พัฒนาการทางสังคม เด็กให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมวัยมากกว่าในระยะเด็กตอนปลาย และผูกพันกับเพื่อนในกลุ่มมากขึ้น กลุ่มของเด็กไม่มีเฉพาะเพื่อนเพศเดียวกันเท่านั้นแต่เริ่มมีเพื่อนต่างเพศ ระยะนี้จึงเริ่มต้นชีวิตกลุ่มที่แท้จริง (Gang Age) ส่วนสัมพันธภาพระหว่างเด็กชายเด็กหญิงเปลี่ยนไปจากวัยเด็กต้อนปลาย เด็กชายและเด็กหญิงเริ่มสนใจซึ่งกันและกันและมีความพอใจในการพบปะสังสรรค์กัน ร่วมเล่น เรียน ทำงาน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

        พัฒนาการทางอารมณ์ เด็กมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สับสน อ่อนไหว เด็กแต่ละคนเริ่มแสดงบุคลิกอารมณ์ประจำตัวออกมาให้ผู้อื่นทราบได้บ้างแล้ว เช่น อามรณ์ร้อน อารมณ์ขี้วิตกกังวล อารมณ์อ่อนไหวง่าย  เจ้าอารมณ์ ขี้อิจฉาฯลฯ  เด็กสามารถรับรู้ลักษณะเด่นด้อยเกี่ยวกับตนเอง พัฒนาการทางความคิด พัฒนาการทางความคิดของเด็กอายุประมาณ 11 ขวบขึ้นไป มีชื่อเรียกรวมว่า รู้คิดถูกระบบ (Formal operation) เด็กพยายามคิดให้เหมือนผู้ใหญ่แต่ว่าด้อยกว่าผู้ใหญ่ในเชิงประสบการณ์และความชำนิชำนาญในการรู้คิด รู้จักคิดเป็นเหตุเป็นผลไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  ต้องการคิดนึกด้วยตัวเอง ระยะนี้เด็กจึงรู้สึกชิงชังคำสั่งบังคับ คำสั่งให้เชื่อและต้องคล้อยตาม รู้จักคิดด้วยภาพความคิดในใจ (Mental images) ทำให้สามารถคิดเรื่องนามธรรมยากๆ ได้

วัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 14 – 21 ปี

        ลักษณะอารมณ์  ลักษณะของอารมณ์สืบเนื่องมาจากอารมณ์ของเด็กวัยแรกรุ่น จึงคล้ายคลึงกันมาก

        พฤติกรรมสังคม  สังคมวัยรุ่นเป็นกลุ่มของเพื่อนร่วมวัย ประกอบด้วยเพื่อนทั้ง 2 เพศ เด็กรู้สึกปลอดโปร่ง  สบายใจ  ในการทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนร่วมวัยมากกว่ากับเพื่อนต่างวัย สัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมวัยถึงความเข้มข้นสูงสุดประมาณระยะตอนกลางของวัยรุ่น การคบเพื่อนร่วมวัยเป็นพฤติกรรมสังคมที่มีความสำคัญต่อจิตใจของวัยรุ่น แต่การคบเพื่อนก็ย่อมมีทั้งคุณและโทษ กลุ่มมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นถ้า  คบเพื่อนไม่ดีก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้

        การเลือกอาชีพ เด็กโตพอที่จะรู้ถึงความสำคัญของอาชีพ เช่น อาชีพนำมาซึ่งสถานทางเศรษฐกิจสังคม เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่แต่เด็กยังสับสนวุ่นวายใจเนื่องจากยังไม่รู้จักตัวเองดีพอในด้านบุคลิกภาพ ความถนัด ความสนใจ
 ความสนใจ ความสนใจมีขอบข่ายกว้างขวาง สนใจหลายอย่างแต่ไม่ลึกซึ้งมาก เพราะเด็กยังไม่เข้าใจเรื่องตัวเอง ยังเป็นระยะลองผิดลองถูก ความสนใจของเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ได้แก่

        การนับถือวีรบุรุษ (Heroic Worship) ความต้องการเลียนแบบผู้ที่ตนนิยมชมชอบมีมาก่อนแล้วตั้งแต่วัยเด็กก่อนวัยรุ่น แต่ความต้องการประเภทนี้แรงขึ้นในระยะวัยรุ่นเพราะ ความต้องการรู้จักตนเอง การยกบุคคลมาเป็นแบบให้นับถือและเลียนแบบช่วยลดความไม่รู้จักหรือความไม่เข้าใจตนเอง แสวงหาแบบอย่างเพื่อดำเนินรอยตามแนวทางที่ถูกที่ควรเพื่อดำเนินชีวิตอย่างผู้ใหญ่

วัยผู้ใหญ่ ตั้งแต่อายุ 21 – 40 ปี

        วัยผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นระยะที่ความเจริญเติบโตทางการพัฒนาเต็มที่สมบูรณ์  อวัยวะทุกส่วนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยทั่วไปบุคคลมักมีกายแข็งแรง ในด้านอารมณ์นั้นผู้ที่จะเข้าถึงภาวะอารมณ์แบบผู้ใหญ่มีความคับข้องใจน้อย  ควบคุมอามรณ์ได้ดีขึ้นมีความแน่ใจและมีความมั่นคงทางจิตใจดีกว่าในระยะวัยรุ่น  ส่วนด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือลักษณะพัฒนาการทางสังคมนั้น  ระยะนี้การให้ความสัมพันธ์กับกลุ่ม (Peer Group) เริ่มลดน้อยลง เปลี่ยนมาสู่การมีสัมพันธภาพและผูกพันกับเพื่อนต่างเพศแบบคู่ชีวิตจุดศูนย์กลางของสัมพันธภาพคือครอบครัว ส่วนผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีคู่ครองและครอบครัว ยังคงให้ความสำคัญ     ต่อกลุ่มเพื่อนร่วมวัยแต่ความเข้มของความผูกพันและภักดีเริ่มลดน้อยลงจำนวนสมาชิกของกลุ่มมักจะน้อยลง

วัยกลางคน ตั้งแต่อายุ 40 – 60 ปี

        สมรรถภาพทางกายเป็นไปในทางเสื่อมถอยการเปลี่ยนแปลงทางกายเช่นนี้  มีผลสัมพันธ์กับอารมณ์จิตใจและสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ทั้งหญิงและชายวัยกลางคนต้องปรับตัวต่อสภาพเหล่านี้การปรับตัวที่สำคัญ เช่น การปรับตัวทางอาชีพ การปรับตัวในบทบาทของสามีภรรยา การปรับตัวต่อการตายของคู่สมรสและความเป็นหม้าย การปรับตัวในชีวิตทางเพศและการเปลี่ยนวัยของชาย การปรับตัวต่อภาวะวิกฤติวัยกลางคนของหญิง  ในด้านความสัมพันธ์ของคนกลางคนต่อบุตรนั้นก็ต้องเปลี่ยนไป  ระยะนี้คนวัยกลางคนมีความสัมพันธ์กับบุตรวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ เขย สะใภ้ วิธีสัมพันธ์นั้นต้องมีลักษณะแตกต่างไปจากเมื่อลูกยังเป็นเด็กเล็ก แต่วิธีใดจะเหมาะสมนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและครอบครัว คนวัยกลางคนต้องให้ความโอบอุ้มดูแลพ่อแม่ของตนซึ่งเข้าสู่วัยชรา อารมณ์ประจำวัยมีหลายประการที่สำคัญ เช่น อารมณ์อยากกลับเป็นหนุ่มสาวอารมณ์เศร้าและลักษณะอารมณ์ของหญิงกลางคนเมื่อหมดระดู คนวัยกลางคนควรมีกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเข้าสู่วัยชราด้วยความสุขสงบในด้านต่างๆ เช่น  การดูแลรักษาสุขภาพ  การจัดสวน เป็นต้น

วัยสูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป

        วัยชราเป็นระยะสุดท้ายของชีวิตลักษณะพัฒนาการในวัยชราตรงกันข้ามกับระยะวัยเด็กคือเป็นความเสื่อมโทรม (Deterioration)  และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอมิใช่การเจริญงอกงาม วัยชราเป็นระยะสุดท้ายของพัฒนาการของคน วัยชรามีความเสื่อมทางร่างกายอย่างเห็นได้ชัดความเสื่อมดังกล่าวส่งผลกระทบต่องานอาชีพ  ลักษณะอารมณ์  ลักษณะสัมพันธภาพกับบุคคลในครอบครัวในสังคม  แม้เป็นระยะแห่งความเสื่อม แต่บุคคลก็อาจใช้ชีวิตวัยชราได้อย่างมีความสุขคือต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเผชิญกับความชรา รู้จักปรับตัวทางด้านร่างกาย อาชีพและสัมพันธภาพกับผู้อื่น สังคมและครอบครัวจะมีส่วนช่วยให้ความสุขแก่คนชรา แม้ว่าคนชราจะไร้ความสามารถด้านพละกำลังแต่คนชรายังมีค่าต่อคนหนุ่มสาว  เพราะมากไปด้วยประสบการณ์และบทเรียนชีวิต มนุษย์แต่ละคนควรตั้งความหวัง ความปรารถนาและเตรียมตัวเพื่อจะใช้ชีวิตยามบั้นปลายระยะวัยชราอย่างมีความสุข


อ้างอิง  https://www.krupatom.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/